"เต่าปูลู" สัตว์สัญลักษณ์แห่งการป้องกันไฟป่า
"เต่าปูลู" เป็นสัตว์น้ำจืดมีลักษณะพิเศษคือมีหัวขนาดใหญ่ กระดองยาว ปากงุ้มเป็นตะขอและแข็งแรงมาก เท้ามีเล็บแหลมคม ขาหน้ามี 5 นิ้ว ขาหลังมี 4 นิ้ว ปกคลุมด้วยเกล็ดหนามกระจายอยู่ทั่วฝ่ามือฝ่าตีนและมีหางคล้ายแส้ความยาวเท่าลำตัว
ในประเทศไทยพบเต่าปูลูเฉพาะในพื้นที่ป่าอนุรักษ์บางแห่งเท่านั้น
เต่าปูลูมีความสามารถในการปีนป่ายโขดหินและต้นไม้จึงชอบอาศัยอยู่ตามภูเขาสูง,ลำธารน้ำตก
และพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ออกหากินในเวลากลางคืน พักผ่อนในเวลากลางวัน และจำศีลในฤดูหนาวโดยหลบอาศัยอยู่ในซอกหิน หรือตามโพลงไม้ใต้น้ำ เต่าปูลูไม่ค่อยออกหากินในช่วงจำศีลแต่ชอบปีนตอไม้ขึ้นไปอาบแดด ฤดูวางไข่ของเต่าปูลูคือช่วงปลายเดือนเมษายนของทุกปี
ไฟป่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เต่าปูลูใกล้จะสูญพันธุ์ ดังนั้นหนึ่งในการอนุรักษ์เต่าปูลู คือการป้องกันไฟป่า ซึ่งเต่าปูลูนั้น เป็นดัชนีที่บ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า เนื่องจากเป็นเต่าที่อาศัยอยู่ป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์
เต่าปูลูเป็นเต่าที่ได้รับอันตรายจากไฟป่าโดยตรง เพราะไม่สามารถหดหัวและขาเข้าไปในกระดองได้เหมือนเต่าชนิดอื่น แถมยังเคลื่อนช้า เมื่อเกิดไฟป่าเต่าปูลูจึงตายเป็นจำนวนมาก ไฟป่าจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เต่าปูลูใกล้สูญพันธุ์
เต่าปูลูเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 การล่า การครอบครอง การค้า มีความผิดตามกฎหมาย มีโทษทั้งจำและปรับ และเป็นเต่าใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลก IUCN (2011) จัดสถานภาพการอนุรักษ์ (Conservation status) เป็น สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (EN - Endangered) การคุ้มครองตามอนุสัญญา CITES (2011) จัดอยู่ในบัญชี 2 (Appendix II)
ภาพ : "ลูกป่าไม้" เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว Phu Khieo Wildlife Sanctuary
ที่มา : ฐานข้อมูลสัตว์ป่าเมืองไทย กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า Wildlife Research Division, เขตห้ามล่าสัตว์ป่าวังโป่ง-ชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์