"หมอชลน่าน" เผย "โรคไข้นกแก้ว" ยังไม่พบผู้ป่วยในไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย "โรคไข้นกแก้ว" ที่พบระบาดในหลายประเทศแถบยุโรป เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่พบได้ยาก ไม่ใช่โรคติดต่ออุบัติใหม่ และมียารักษา อาการจะคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ ทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรงได้ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในนก
วันนี้ (8 มีนาคม 2567) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพบการระบาดของโรคซิตตาโคซิส หรือโรคไข้นกแก้ว ในหลายประเทศแถบยุโรป มีผู้เสียชีวิต 5 ราย โดยพบเชื้อในนก สัตว์ปีกในป่า และสัตว์เลี้ยงหลายชนิด ว่า โรคไข้นกแก้ว (Psittacosis) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่พบได้ยาก แต่ไม่ใช่โรคติดต่ออุบัติใหม่ และมียาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาได้ เชื้อโรคนี้มักจะก่อโรคในนกที่เป็นสัตว์เลี้ยง เช่น นกแก้ว เป็นต้น ในอดีตเคยมีการระบาดในนกแก้วในหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ คอสตาริกา ออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยเคยมีการรายงานจากการวิจัยสำรวจในสัตว์ปีก ว่าพบเชื้อแบคทีเรียนี้เช่นกัน
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า โรคนี้ไม่แพร่กระจายโดยการกินสัตว์ที่ติดเชื้อ การติดเชื้อในคนส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากนกที่ติดเชื้อ จัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยผ่านทางการหายใจเอาเชื้อที่ขับออกมาจากปัสสาวะ อุจจาระ หรือสิ่งคัดหลั่งที่มีการปนเปื้อนของนกที่ติดเชื้อ ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และทำให้เกิดอาการปอดอักเสบรุนแรงได้ บางรายอาจมีอาการเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าพบผู้ป่วยโรคนี้ในระบบเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ประสานไปยังจุดประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR) เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีที่พบการระบาดหรือการติดเชื้อของโรคดังกล่าว และประสานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมปศุสัตว์ และเครือข่ายมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความร่วมมือกันเรื่องสุขภาพหนึ่งเดียว (One health) เพื่อประสานข้อมูล และร่วมมือกันเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและในสัตว์ โดยโรคนี้อยู่ในระบบเฝ้าระวัง แบบ Event base surveillance หรือการเฝ้าระวังเหตุการณ์ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามอย่างใกล้ชิดทุกวัน
"กลุ่มเสี่ยงที่ต้องให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังการติดเชื้อ ได้แก่ ผู้เลี้ยงนก สัตวแพทย์ หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนก แม้โรคนี้จะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่สามารถป้องกันเบื้องต้นได้ โดยเลือกซื้อนกเลี้ยงจากร้านขายสัตว์เลี้ยงที่น่าเชื่อถือและมีสุขอนามัยที่ดี ผู้เลี้ยงต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันการติดเชื้อในนก เช่น การรักษาความสะอาด ไม่ให้นกอยู่กันอย่างแออัด แยกสัตว์ป่วยออกจากสัตว์ปกติ เป็นต้น ส่วนประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย หากจำเป็นต้องสัมผัสต้องป้องกันตนเอง สวมถุงมือ และหมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ บุคลากรที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสใกล้ชิดกับนก ต้องหมั่นคอยสังเกตอาการตนเองและอาการของสัตว์อยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบปรึกษาแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยง" นพ.ชลน่าน กล่าว