เงินชดเชยสำหรับความสูญเสียและความเสียหาย “จะมีมูลค่าสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ” (ราว 3.12 หมื่นล้านบาท) เรบีกล่าวกับสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นเมื่อวันพุธ (31 มี.ค.) พร้อมเสริมว่า “นี่เป็นสิทธิของประเทศเรา และเราจะไม่ยอมปล่อยมันหลุดลอยไป”
เรือยักษ์ เอเวอร์ กิฟเวน ขนาด 224,000 ตัน แล่นชนฝั่งและปิดกั้นทางน้ำสายสำคัญตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. และกลับมาลอยได้ในอีก 6 วันต่อมา ด้วยความพยายามร่วมกันระหว่างองค์การฯ กับโบสกาลิส (Boskalis) บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ และสมิท ซัลเวจ (Smit Salvage) ทีมรับมือเหตุฉุกเฉินที่ถูกว่าจ้างโดยเจ้าของเรือเอเวอร์ กิฟเวน
เรบีอธิบายว่า เงินที่องค์การฯ เรียกร้องนั้นไม่เพียงเป็นค่าชดเชยสำหรับความสูญเสียทางการเงินที่เกิดจากการระงับการเดินเรือในคลองสุเอซนาน 6 วัน แต่ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายในการใช้เรือขุดและเรือลากจูง ตลอดจนความเสียหายทางกายภาพที่เกิดขึ้นระหว่างการกอบกู้เรือ
การสัญจรในคลองสุเอซกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง หลังการกอบกู้เรือเอเวอร์ กิฟเวนที่กินเวลานานหลายชั่วโมงเสร็จสิ้นลงช่วงเช้าวันจันทร์ (29 มี.ค.) จากนั้นเรือราว 422 ลำที่ติดค้างอยู่จึงเริ่มเดินทางผ่านคลองดังกล่าวได้
เรบีระบุว่า เมื่อนับถึงวันเสาร์ (27 มี.ค.) มีเรือมากสุด 422 ลำที่รอสัญจรผ่านทางน้ำแห่งนี้
ทั้งนี้ คลองสุเอซเป็นทางน้ำที่ขุดขึ้นเพื่อเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง และกลายเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าทางทะเลสายสำคัญของโลก เนื่องจากเอื้อให้เรือเดินทางระหว่างยุโรปกับเอเชียใต้ได้โดยไม่ต้องอ้อมไปทางใต้ของทวีปแอฟริกา ช่วยย่นระยะทางทางทะเลระหว่างยุโรปกับอินเดียได้ประมาณ 7,000 กิโลเมตร โดยร้อยละ 12 ของปริมาณการค้าทั่วโลกล้วนต้องขนส่งสินค้าผ่านทางน้ำสายนี้