ทำความรู้จัก "ค้างคาวมงกุฎหูโตใหญ่" เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย
เป็นค้างคาวที่อยู่ในวงศ์ค้างคาวมงกุฎ (Family RHINOLOPHIDAE) เดิมใช้ชื่อว่า Rhinolophus paradoxolophus (Bourret,1951) แต่จากการศึกษาของ Tu VT และคณะ (2023) ได้จัดเป็นชนิดเดียวกันกับ R. rex
ซึ่งค้างชนิดนี้เป็นค้างคาวกินแมลง หากินในป่าสมบูรณ์ การกระจายพบมากในประเทศจีน ด้านทิศเหนือของลาว พม่าและเวียดนาม สำหรับประเทศไทยมีรายงานพบที่ทุ่งกระมัง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยคุณกิติ ทองลงยา เมื่อปี 2515 พบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2545 นอกจากนี้ยังพบที่จังหวัดเลย และจังหวัดตาก ซึ่งเป็นค้างคาวที่พบไม่บ่อยนัก เนื่องจากเป็นค้างคาวที่พบในพื้นที่สูง
ครั้งนี้สถานีสัตว์ป่าดอยเชียงดาวได้ดำเนินทำการดักจับเพื่อสำรวจความหลากชนิดของค้างคาวในพื้นที่ป่าสนที่มีความสูง 1,450 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ตามโครงการวิจัยการพัฒนาฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์ป่าในพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาวเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลระยะเร่งด่วน ซึ่งพบค้างคาวทั้งสิ้น 11 ชนิด โดยมีค้างคาวชนิดนี้เป็นที่น่าสนใจจากลักษณะที่แตกต่างจากชนิดอื่นชัดเจน มีกระดูกท่อนแขนล่าง (Forearm) 54 mm.
ค้างคาวมงกุฎหูโตใหญ่ จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย สถานภาพของค้างคาวตามสถานภาพการคุกคาม (โลก) เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสถานภาพเป็นกังวลน้อยที่สุด Least Concern: LC (IUCN, ) ส่วนสถานภาพการคุกคาม (ไทย) เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ Vulnerable: VU (สำนักนโยบาลและแผนงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2563)
พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่สำคัญของสัตว์ป่ามีความหลากหลายสูงทั้งด้านพืชและสัตว์ จึงควรช่วยกันดูแลรักษาให้เป็นสมบัติของชาติตลอดไป
ขอบคุณ : สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว