ถึงบางอ้อ "ตำ" กะ "ยำ" ต่างตรงไหน รสชาติก็คล้ายบางทีแทบแยกไม่ออก
เปิดความหมายความแตกต่างระหว่าง "ตำ" กับ "ยำ" ต่างกันตรงไหนทำไมบางทีหน้าตาเหมือนกัน รสชาติคล้ายกันแต่เรียกกันคนละชื่อ มีคำตอบ
ตำกับยำ เมนูรสแซ่บของไทยที่จะสั่งกี่ครั้งก็ต้องลังเลว่าจะกินอะไรดี หลายๆคนคงเคยสงสัยใช่ไหมล่า ตำ กับ ยำ แตกต่างกันอย่างไร วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกัน รับรองอ่านจบถึงบ้างอ้อแน่ๆเพราะจริงๆแล้วก็แยกไม่ยากเลย แม้รสชาติจะคล้ายๆกันคือ เปรี้ยว เค็ม เผ็ด หวาน แต่ก็มีกรรมวิธีการทำที่ต่างกันนะ
ไปที่ "ส้มตำ" หรือ "ตำ" กันก่อนเลย ส้มตำเป็นอาหารอีสานที่ฮิตไปทั่วประเทศ ความหมายคือการทำอาหารที่มีความเปรี้ยว (ส้ม ภาษาถิ่นอีสานแปลว่า เปรี้ยว) ในอุปกรณ์อย่างเช่นครก และใช้สากในการ "ตำ" เมื่อนำมาผสมกันจึงได้คำว่า "ส้มตำ" ไม่ได้หมายความว่าเอาส้มที่เป็นผลๆลงไปตำนะ
และหากแยกเป็นกิริยา การตำ ก็คือการใช้อุปกรณ์อย่างเช่นสาก "ตำ" ส่วนผสมให้ละเอียด เช่นการตำน้ำพริก เป็นต้น
ส่วน "ยำ" หมายถึงการนำเนื้อสัตว์ ผักต่างๆ และน้ำปรุงรส มาคลุกเคล้าเข้าด้วยกันเบาๆ จนให้รสซึมซาบเสมอกัน ซึ่งเมนูยำของไทยจะมีรสชาติหลักอยู่ 3 รส คือ เปรี้ยว เค็ม หวาน การยำต่างกับการตำตรงที่จะใช้อุปกรณ์เช่น ช้อน หรือ ทัพพี ค่อยๆคนส่วนผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ไม่ได้ตำให้แหลกเหมือนกับเมนูตำ
และยำก็มีหลากหลายเช่นยำวุ้นเส้น ยำรวมมิตร ยำมะม่วง ยำลูกชิ้น ซึ่งไม่ได้ใช้ครกกับสากและยำหลายๆชนิดก็มีวัตถุดิบก็ไม่เหมือนกับส้มตำเลย
แต่หลังๆร้านส้มตำเองก็มักจะมีเมนูยำที่หน้าตาคล้ายกับส้มตำอยู่บ้างจึงทำให้หลายๆคนก็คงสงสัยว่ามันต่างกันอย่างไร บางคนจึงใช้วิธีแยกง่ายๆคือถ้าเป็น "ตำ" จะมีมะละกอสับอยู่ในจาน ทำในครก ใช้สากตำเบาๆและใช้ช้อนคลุกเคล้า นั่นเอง