"ลาบ" ชื่อนี้มาจากไหน เปิดที่มาชื่อเมนูครองใจคนไทย แฝงความหมายมงคล
เปิดที่มาชื่อเมนูฮิต "ลาบ" สั่งกันแทบทุกวันแต่รู้หรือไม่ทำไมเรียกว่า ลาบ แถมแฝงความหมายสุดมงคล พร้อมสูตรเด็ดทำลาบกินเอง
"ลาบ" อาหารอีสานชื่อดังที่ครองใจคนไทยทั่วทุกภาค แล้วรู้กันหรือไม่ว่าชื่อนี้มีที่มาจากไหน ทำไมเรียกว่าลาบ มีความหมายว่าอะไร วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกัน พร้อมสูตรทำลาบเด็ดๆ ใครทำตามก็อร่อยชัวร์
ชื่อเมนู ลาบ มีที่มาอย่างไร ความหมายเมนู ลาบ
คำว่า "ลาบ" ในภาษาคำเมืองแปลว่า การสับเนื้อให้ละเอียด และคำนี้ยังพ้องเสียงกับคำว่า "ลาภ" ซึ่งหมายถึง ของที่ได้ กำไร และความโชคดี
การนำเนื้อสัตว์ต่างๆมาสับละเอียดแล้วปรุงรสจึงเป็นที่มาของชื่อเมนูลาบ นั่นเอง
สำหรับลาบนั้นไม่ได้มีแค่ในภาคอีสานเท่านั้น แต่ยังมีทั้งลาบเหนือหรือที่เรียกว่า ลาบเมือง ลาบอีสาน ลาบคั่ว ลาบยอ
ข้อมูลตามเสาวภา (2548) ในสมัยก่อนโอกาสพิเศษที่จะทำลาบกินกันนั้นได้แก่
1.ตามช่าวเทศกาล เช่น สงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา
2.ตามงานประเพณีต่างๆ
3.ฉลองโอกาศพิเศษ เช่น วันเกิด ถูกหวย งานเลี้ยงต่างๆ งานเลี้ยงส่ง เลี้ยงต้อนรับ
ถือเป็นอาหารมงคลสำหรับคนในสมัยก่อน
วิธีทำลาบ
วัตถุดิบทำลาบ
- เนื้อสัตว์สับละเอียด 300 กรัม
- เครื่องใน หรือ หนังหมู 200 กรัม (จะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้)
- หอมแดง 100 กรัม ซอยบางๆแล้วพักไว้
- ผักชี/ต้นหอม หั่นเป็นท่อนไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป
- ข้าวคั่ว 1+1/2 ช้อนโต๊ะ สำคัญขาดไม่ได้เพิ่มความหอมเป็นเอกลักษณ์ให้กับเมนูลาบ
- พริกป่น 1+1/2 ช้อนโต๊ะ พริกคั่วหอมๆใส่เข้าไปได้ทั้งความเผ็ดและความหอม
- น้ำปลา 1+1/2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมะนาว 1+1/2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำ 50 ml.เพิ่มความขลุกขลิก หรือถ้าไม่ชอบแบบมีน้ำก็ไม่ต้องใส่ก็ได้เพราะเนื้อสัตว์จะคายน้ำออกมาเมื่อโดนความร้อนแล้ว
ขั้นตอนการทำลาบ
1.ใช้เนื้อสับละเอียด เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ หรือเป็ด ได้ทั้งนั้นใส่ลงในหม้อเติมน้ำ เปิดไฟรวนให้สุกพอประมาณ
2.หากใส่หนังหมูหรือเครื่องในก็ใส่ตามลงไปแล้วรวนต่ออีกเล็กน้อย
3.ใส่หอมแดงซอยลงไปปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะนาว พริกป่อน ข้าวคั่ว รวนต่อจนลาบสุก บอกเลยว่าขั้นตอนนี้จะส่งกลิ่นหอมฟุ้งสุดๆแทบอดใจไม่ไหว
4.ปิดไฟใส่ผักชี ต้นหอม ตักใส่จานพร้อมเสิร์ฟ