วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดสวย ผสมผสานศิลปะโบราณสมัยล้านนา
ประวัติวัดเจดีย์เหลี่ยม หรือ วัดกู่คำหลวง เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และยังมีสถาปัตยกรรมผสมผสานทั้งศิลปะล้านนา พม่า และเขมรในปัจจุบันนับว่าหาชมได้ยาก
ประวัติวัดเจดีย์เหลี่ยม หรือ วัดกู่คำหลวง เป็นวัดที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานหลายร้อยปี และยังมีความสำคัญเกี่ยวกับทางพุทธศาสนา ใครยังไม่เคยมาต้องบอกเลยว่าเสียดายมาก สถานที่แห่งนี้ยังมีสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานทั้งศิลปะล้านนา พม่า และขอมรวมเข้าด้วยกัน นับว่าหาชมได้ยากมากในปัจจุบันนี้
วัดเจดีย์เหลี่ยม หรือ วัดกู่คำหลวง วัดแห่งนี้มีประวัติกล่าวไว้ว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1831 สมัยพญาเม็งราย และได้บูรณะอีกครั้งในปี พ.ศ. 2445 โดยพญาตะก๋า หรือ หลวงโยนการวิจิตร และสถานที่แห่งนี้ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2523 อีกด้วย วัดเจดีย์หลวงตั้งอยู่บนถนนสายเกาะกลาง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า วัดกู่คำหลวง นั่นเองค่ะ
ตาม ประวัติวัดเจดีย์เหลี่ยม จ.เชียงใหม่ แห่งนี้ เดิมพื้นที่ตรงนี้คือบริเวณเมือง เวียงกุมกาม เป็นเมืองเก่าของเชียงใหม่ หากย้อนไปสมัยพญาเม็งราย พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 25 แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงลาว หลังจากที่พระองค์ยกทัพไปตีเมืองลำพูนและสร้างเมืองใหม่อยู่ที่นั่นได้ 5 ปี พระองค์ก็ได้ยกทัพมาสร้างเมืองใหม่อีกแห่งหนึ่งที่ริมแม่น้ำปิงเมื่อปี พ.ศ. 1820 และตั้งชื่อเมืองว่า "เวียงกุมกาม" หลังจากนั้นประมาณ 10 ปี พระองค์ก็ทรงโปรดให้สร้าง "พระเจดีย์เหลี่ยม" ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1831 โดยให้ช่างไปศึกษาแบบของพระเจดีย์ที่ วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน และนำมาเป็นต้นแบบในการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ขนาดฐานกว้าง 8 วา 1 ศอก สูง 22 วา ที่เมืองเวียงกุมกาม
ทำให้รูปแบบ สถาปปัตยกรรมวัดเจดีย์เหลี่ยม มีการผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนา ขอม และพม่า เริ่มที่ พระบรมธาตุเจดีย์ หรือ เจดีย์เหลี่ยม ที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสองส่วน คือ พระเกศาธาตุ คือ เส้นผมพระพุทธเจ้า และ พระบรมธาตุส่วนคาง ศิลปะกรรมได้รับต้นแบบมาจากพระเจดีย์ ของวัดจามเทวี จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นรูปแบบของเจดีย์ในยุคแรกๆ ของแคว้นล้านนา เป็นการสร้างก่ออิฐขึ้นเป็นรูปเจดีย์ทรงปราสาทจำนวน 5 ชั้น ฉาบปูนขาว ในแต่ละชั้นมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน รวมทั้งหมด 60 ซุ้ม
เป็นการลอกเลียนแบบเจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี เหตุที่ได้ชื่อว่ากู่คำ เพราะมีการประดับด้วยทองคำลงมาตั้งแต่ยอด แต่เนื่องจากได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2451 โดยรองอำมาตย์เอก หลวงโยนะการพิจิตร (หม่องปันโหย่ อุปะโยคิน) คหบดีชาวพม่า ทำให้พระพุทธรูป ซุ้มพระ ลายพรรณพฤกษากลายเป็นรูปแบบศิลปะพม่าไป และมีการเพิ่มพระพุทธรูปนั่งอีก 4 องค์ รวมทั้งหมด 64 องค์ เพื่อให้เท่ากับอายุของรองอำมาตย์เอก หลวงโยนะการพิจิตรในขณะนั้นด้วย
เนื่องจากวัดกู่คำมีความสำคัญ จึงได้รับการทำนุบำรุงสืบต่อกันมา จากการขุดแต่งบูรณะและศึกษาของสายันต์ ไพรชาญจิตร์ ชี้ให้เห็นว่า การก่อสร้างลานประทักษิณและกำแพงแก้วของวัดกู่คำตั้งแต่ครั้งแรกจนปัจจุบัน มีการก่อสร้างมาแล้ว 7 ครั้ง
และ วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2539 มีการค้นพบเศษชิ้นส่วนจารึกอักษรไทยสุโขทัย อายุพุทธศตวรรษ 19–20 บริเวณนอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกของเจดีย์กู่คำ ซึ่งรูปอักษรและรูปสระในจารึกมีลักษณะใกล้เคียงกับจารึกพ่อขุนรามคำแหงมาก เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงอารยธรรมการใช้อักษรภาษาของกลุ่มชนคนไทยแถบลุ่มแม่น้ำปิงในช่วงสมัยปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่
สำหรับใครที่อยากจะมา เที่ยวชมวัดเจดีย์เหลี่ยม สามารถมาแวะที่ศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกามและนั่งรถม้าหรือรถรางมาเที่ยวได้วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี การเดินทาง ให้เดินทางมาตามถนนสายเกาะกลาง-หนองหอย
และนี่คือ ประวัติวัดเจดีย์เหลี่ยม วัดสวย ผสมผสานศิลปะโบราณสมัยล้านนา ของจังหวัดเชียงใหม่ หากมีเวลาก็นับว่าเป็นสถานที่สำคัญที่ควรเดินทางไปกราบไหว้สักการะพระบรมธาตุ และชมความวิจิตรงดงามของสถาปัตยกรรมที่นับว่าหาชมได้ยากในปัจจุบัน