ว่อนเตือน "พายุขนาดใหญ่" ถล่มไทยเหมือนปี 54 ล่าสุด "ศปช." แจงแล้ว
ว่อนเตือน ข่าวลือว่อนเนตว่าพายุขนาดใหญ่ถล่มไทยเหมือนปี 54 ศปช. ยืนยัน ไม่เป็นความจริง อยู่ไกลถึงญี่ปุ่น วอนอย่าส่งต่อ
จากกระแสข่าวลือว่าอีก 5 วันจะเกิดพายุขนาดใหญ่และทำให้กรุงเทพมหานครน้ำท่วมหนักกว่าปี 2554 นั้น ล่าสุด ศปช. ออกมาชี้แจงแล้วว่า ไม่เป็นความจริง ยืนยันอยู่ไกลถึงญี่ปุ่น วอนอย่าส่งต่อ เผยสัปดาห์หน้า หลายพื้นที่จะเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาว โดย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) กล่าวว่า
ตามที่มีข่าวลือผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า “อีก 5 วันจะเกิดพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ที่รุนแรงกว่า“ยางิ ”และจะเคลื่อนตัวเข้าเวียดนาม ผ่านลาวเข้าไทย และจะส่งผลให้กรุงเทพฯ จะเจอน้ำท่วมหนักกว่าปี 54 ถึงสองเท่า” นั้น
ศปช.ได้ตรวจสอบข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา และ ส่วนราชการอื่นๆใน ศปช.แล้ว ยืนยันว่าในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีพายุขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมีเพียงพายุโซนร้อนซีมารอน (CIMARON) ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งคาดว่าจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นและอ่อนกำลังลง ไม่มาถึงประเทศไทยอย่างแน่นอน
โดยฝนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ช่วงนี้เกิดจากมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุม โดยจะมีฝนเพิ่มขึ้นในระยะแรกๆ จากนั้นจะลดลง และเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาวในประเทศไทย
ส่วนกรณีการแก้ไขปัญหาและเยียวยาพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยนั้น นายจิรายุ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย ให้รวดเร็ว ลดขั้นตอน โดยได้รับรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า จะสามารถจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย
และ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบภัยลำดับต้น ๆ ได้ในช่วงสัปดาห์นี้เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ก่อนซึ่งหากมีความเสียหายอื่น ๆ ก็จะเร่งรัดจ่ายเงินช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ เช่น กรณีบ้านพังเสียหายทั้งหลัง จะได้รับเงินช่วยเหลือ 230,000 บาทต่อหลัง และในกรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือ 50,000 บาท
“ที่ประชุม ศปช.ได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจ่ายเงินเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ภายใต้ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งความช่วยเหลือที่รวดเร็วเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุด”
สรุปแล้ว ข่าวลือเกี่ยวกับพายุใหญ่และน้ำท่วมกรุงเทพฯ เป็นเพียงข่าวลือที่ไม่เป็นความจริง การเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ควรตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบก่อนที่จะแชร์ต่อ และควรติดตามข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้