"พายุลูกใหญ่" มาจริงหรือไม่ "อ.เจษฎ์" แจงชัดชัด หลังสะพัดท่วมหนักกว่าปี 54

27 กันยายน 2567
130

"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ กางข้อมูลชัด หลังว่อนเตือน "อีก 5 วันจะเกิดพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ รุนแรงมาก แรงกว่าพายุยางิถึง 2 เท่า" อาจท่วมหนักกว่าปี 54

กลายเป็นประเด็นที่สร้างความฮือฮาไม่น้อย เมื่อมีผู้ใช้เฟชบุ๊ครายหนึ่งออกมาเตือนภัย "อีก 5 วันจะเกิดพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ ถล่มไต้หวันแบบชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และรุนแรงมาก แรงกว่าพายุยางิ" กรุงเทพฯ น้ำจะท่วมหนักกว่าปี 54 ถึงสองเท่า ล่าสุด "อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กางข้อมูลชัด "พายุลูกใหญ่" มาจริงหรือไม่ 

\"พายุลูกใหญ่\" มาจริงหรือไม่ \"อ.เจษฎ์\" แจงชัดชัด หลังสะพัดท่วมหนักกว่าปี 54

 

โดยทางด้าน "อ.เจษฎ์" โพสต์ข้อความระบุว่า 

"พายุที่ไต้หวัน (ถ้าเกิดจริง) ไม่ได้จะมุ่งหน้ามาไทยครับ"

วันนี้ มีการเสนอข่าวคำทำนายพายุ จากเพจของผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่ง อ้างว่า "อีก 5 วันจะเกิดพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ ถล่มไต้หวันแบบชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และรุนแรงมาก แรงกว่าพายุยางิถึง 2 เท่า" (ดูลิงค์ข่าวด้านล่าง)

"พายุที่จะก่อตัวขึ้นในไต้หวันในอีก 5 วันข้างหน้า ดูดเอามวลลมทั้งหมดในเขตทะเลจีนใต้ได้แบบง่ายดาย จึงมีขนาดใหญ่และมีกำลังมาก .. หากพายุลูกนี้เคลื่อนตัวไปในทิศทางไหน จะก่อหายนะที่รุนแรงมาก" !?

และบอกด้วยว่า "พายุลูกนี้จะเคลื่อนตัวเข้าเวียดนามและเข้าประเทศไทย ทางฝั่งภาคเหนือตอนบนอย่างแน่นอน กรุงเทพฯ น้ำจะท่วมหนักกว่าปี 54 ถึงสองเท่าเลยทีเดียว" !?

ยิ่งไปกว่านั้น ยังบอกด้วยว่า "การเปลี่ยนแปลงของร่องมรสุมและพายุฝนแบบนี้ เกิดจากการรั่วออกมาของก๊าซไฮโดรเจน จากเตาปฏิกรณ์ของการทดสอบ "ดวงอาทิตย์เทียม" ที่จีน ทำให้ลมมรสุมรอบข้างถูกดูดหายไปรวมตัวกันเป็นเมฆที่กระจุกลอยอยู่ในเขตประเทศ เนปาล บังคลาเทศ อินเดียและตอนบนของเมียนมาร์" !?

\"พายุลูกใหญ่\" มาจริงหรือไม่ \"อ.เจษฎ์\" แจงชัดชัด หลังสะพัดท่วมหนักกว่าปี 54

ข่าวดังกล่าวนี้ได้รับการแชร์ออกไปอย่างกว้างขวาง และทำให้เกิดความตกอกตกใจกันไปทั่ว ทั้งที่ไม่ได้มาหน่วยงานผู้รับผิดชอบหรือสถาบันวิชาการใดๆ .. คำทำนายดังกล่าว ก็น่าจะนำเอามาจากแอพ Windy.com (ดูตามลักษณะภาพ)

ในความเป็นจริงแล้ว ตอนนี้ ยังไม่มีพายุไต้ฝุ่นก่อตัวที่บริเวณเกาะไต้หวัน แต่มีกลุ่มหย่อมความกดอากาศต่ำ ที่อาจจะพัฒนาขึ้นเป็นพายุโซนร้อนได้ครับ

 

โดยหน่วยงาน TyTech Taiwan ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊ก (ดูลิงค์ด้านล่าง) ว่าเมื่อ 8 โมงเช้าวันพุธที่ 25 กันยายน พายุดีเปรสชั่นในน่านน้ำทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเกียวชู ประเทศญี่ปุ่น ได้ทวีกำลังแรงขึ้นกลายเป็นพายุโซนร้อน ชื่อพายุ ซีมารอน Cimaron (ภาษาตากาล็อก แปลว่า สัตว์ป่าดุร้าย คุมไม่อยู่) ซึ่งจะเคลื่อนที่เข้าไปในหมู่เกาะญี่ปุ่น และส่งผลกระทบต่อผู้ที่จะเดินทางไปญี่ปุ่นช่วงนี้ (ดูรูปประกอบ)

ประเด็นคือ กลุ่มหย่อมความกดอากาศต่ำ ที่อยู่ทางตอนใต้ของเกาะเรียวกิว ของประเทศญี่ปุ่น อาจจะส่งผลกระทบต่อเกาะไต้หวันได้ โดยคาดว่าในอีกไม่กี่วันนี้จะก่อตัวใหญ่ขึ้น และพัฒนาเป็นพายุโซนร้อนได้ในช่วงสุดสัปดาห์นี้

เส้นทางการเดินทางของพายุโซนร้อนลูกนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าจะไปทางใด โดยอาจจะมุ่งตรงไปทางเกาะไต้หวัน หรืออาจจะพุ่งขึ้นไปทางเหนือ (ดูภาพประกอบ) ..

ซึ่งจะเห็นว่า ถ้าพายุโซนร้อนลูกนี้ เกิดขึ้นจริง (ยังไม่มีคำทำนายว่าจะพัฒนาขึ้นไปถึงระดับพายุไต้ฝุ่น) ก็จะอยู่บริเวณเกาะไต้หวัน ไม่ใช่มุ่งมาทางมาประเทศไทยครับ

สำหรับประเทศไทยเรา พยากรณ์อากาศใน 5-7 วันข้างหน้านี้ โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ก็ไม่ได้บอกว่าจะมีพายุเข้ามาครับ มีแต่บอกว่า จะมีความกดอากาศสูง + ร่องมรสุม + ลมตะวันออกเฉียงใต้ ดังนี้

- ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. – 2 ต.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวตอนบน เวียดนามตอนบน และทะเลจีนใต้ ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในขณะที่มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนและอ่าวไทยตอนบน

- ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง โดยบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคตะวันออกมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่

- ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

- ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ตลอดช่วง

ป.ล. เพิ่มเติมว่า "เตาปฏิกรณ์ดวงอาทิตย์เทียม" ของประเทศจีน นั้น มันก็คือ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชั่น ที่ยังศึกษาวิจัยกันอยู่ทั่วโลก ยังอีกนานมากกว่าจะใช้ผลิตไฟฟ้าได้จริง และ

ก็ไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก แต่อย่างไรครับ .. ไม่รู้เค้าไปเอาแนวคิดนี้มาจากไหน
\"พายุลูกใหญ่\" มาจริงหรือไม่ \"อ.เจษฎ์\" แจงชัดชัด หลังสะพัดท่วมหนักกว่าปี 54
 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเชื่อหรือแชร์ข่าวสารใดๆ ควรตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เช่น เว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา หรือสื่อหลัก และควรติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ขอบคุณ Jessada Denduangboripant  (อาจารย์เจษฎ์)