"อ.เจษฎ์" เตือน ลอยกระทงปีนี้ เลี่ยง "กระทงอาหารปลา" หวั่นทำลายสิ่งแวดล้อม
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เตือน ลอยกระทงปีนี้ เลี่ยง "กระทงอาหารปลา" หวั่นทำลายสิ่งแวดล้อม
เรียกว่าใกล้ เทศกาลวันลอยกระทง เข้ามาทุกที สำหรับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ที่กำลังจะถึง ทั้งนี้ หลายฝ่ายได้รณรงค์ให้มีการ ลด ละ เลิก การลอยกระทง แต่ไม่จำเป็นต้องยกเลิกงานลอยกระทง ล่าสุดทางด้าน "อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า
"ลอยกระทงอาหารปลา ต้องระวังเรื่องปลากินไม่หมด แล้วทำลายสิ่งแวดล้อมนะครับ"
อีกไม่นานก็ใกล้วันลอยกระทงแล้ว สื่อต่างๆ ก็เริ่มช่วยกันโปรโมตเทศกาลลอยกระทงกัน อย่างข่าวนี้ของไทยรัฐ ที่แนะนำ "10 ไอเดียกระทงอาหารปลา" เช่น เอาอาหารปลามาทำเป็นกระทงรูปดอกไม้ รูปปลา รูปเป็ด ฯลฯ
ซึ่งก็ขอเอาเน้นเนื้อหาของข่าวนี้ ตรงส่วน "คำเตือน" ให้ชัดเจนขึ้นนะครับ ว่าต้องลอยด้วยความระมัดระวังด้วย เพราะ "กระทงอาหารปลา" มันทำลายสิ่งแวดล้อมได้ เหมือนกับที่ต้องเตือนเรื่อง "กระทงขนมปัง" กันทุกปีครับ
- กระทงอาหารปลา ทำจากอาหารปลาที่ผสมแป้งข้าวโพดและสีผสมอาหารเข้าด้วยกัน ก่อนจะประดิษฐ์เป็นกระทงหน้าตาแตกต่างกันออกไป โดยการใช้น้ำหรือมันสำปะหลังติดแทนกาว เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ และดึงดูดลูกค้า
- โดยเริ่มแรกจะขายในบริเวณหน้าวัด หรือแหล่งน้ำที่มีปลาเป็นจำนวนมาก ก่อนจะเป็นที่นิยมทั่วประเทศ
- อย่างไรก็ดี แม้ว่ากระทงอาหารปลาสวยๆ เหล่านี้จะใช้เวลาย่อยสลายเพียงไม่กี่วัน แต่หากปริมาณกระทงมีมากกว่าปลาในแหล่งน้ำ ก็อาจจะส่งผลให้แหล่งน้ำเน่าเสียได้เช่นกัน
- หากแหล่งน้ำมีขนาดเล็ก หรือมีปลาน้อย แนะนำให้เลือกกระทงใบตอง กะลามะพร้าว กระทงน้ำแข็ง หรือกระทงอื่นๆ ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดน้ำเน่าเสีย