อดีตนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิก มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ นานถึง 6 นาที
อดีตนักกีฬา ดีกรีเหรียญทองโอลิมปิก มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หมอบอกเป็นอันตรายต่อชีวิต ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
อดีตนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิก มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ นานถึง 6 นาที : เดี๋ยวนี้มักจะได้ยินเหตุการณ์ผู้คนหลับและเสียชีวิตไปเฉยๆ มากมายหลายเคส และไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาหรือไม่ก็มีความเสี่ยงทุกคน และอีกอาการหนึ่งที่น่าเป็นห่วงสุดๆ ก็คือ อาการหยุดหายใจขณะหลับ ที่บางคนอาจจะรุนแรงถึงขั้นนานเช่นเดียวกันกับนักกีฬารายนี้
โดย สื่อต่างประเทศ ได้รายงานเรื่องของ หยาง เหว่ย อดีตนักกีฬายิมนาสติก เจ้าของเหรียญโอลิมปิก ที่ได้ออกมาเปิดเผยว่า เขามีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ ซึ่งอาจส่งผลถึงชีวิตได้ หมายความว่า เข้าต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อช่วยให้เขานอนหลับตอนกลางคืนไปตลอดชีวิต
ทั้งนี้ใน Douyin ของเขา (แอพลิเคชั่นยอดนิยมของจีน) อดีตนักกีฬาเหรียญทองวัย 43 ปี บอกว่า แพทย์ระบุว่า เขามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเกิดจากทางเดินหายใจตีบตัน นำไปสู่การนอนกรนอย่างหนัก และหายใจไม่ออกอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ หยางบอกว่า ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ บอกว่าในบางครั้ง การหายใจของเขาหยุดไปนานถึง 6 นาที ระหว่างการนอนหลับ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ซึ่งทำให้เขาต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
อีกทั้งเขายังเล่าอีกว่า เขาคิดว่าเขามีสุขภาพที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยคนในวัยเดียวกัน เพราะเขาออกกำลังกายสัปดาห์ละหลายครั้งที่ยิมในบ้าน และผ่านการทดสอบร่างกายแล้ว
สำหรับ หยาง เหว่ย เป็นนักยิมนาสติก เมื่ออายุได้ 5 ขวบ และ ก็รุ่งโรจน์ในเส้นทางการทำงานของเขา จนคว้าเหรียญทองได้ในหลายรายการ ทั้งบุคคลและประเภททีม รวมไปถึง 2 เหรียญทองในโอลิมปิกที่ปักกิ่ง ในปี 2008 ก่อนจะเกษียณในปีต่อมา และแต่งงานกับแฟนสาว อดีตนักกายกรรมที่คบหากันมานาน ปัจจุบันเขาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ดังและมีรายการเรียลลิตี้โชว์
นอกจากนี้ ข่าวดังกล่าว ทำให้กระแสของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ กลายเป็นที่สนใจในสังคมอีกครั้ง ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นักธุรกิจ นักการเมืองชาวฮ่องกง Kenneth Fok Kai-kong ก็ถูกเปิดเผยว่าเขามีปัญหากับการนอนหลับ
ด้าน ฮั่นฟาง เลขาธิการสมาคมการนอนหลับโลก และศาสตราจารย์โรงพยาบาลประชาชนมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวกับโกลบอลไทม์สว่า 1 ใน 5 ของผู้ที่กรนมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างกะทันหันนั้น สูงกว่าคนที่มีสุขภาพแข็งแรงถึง 3 เท่า
ขณะที่ ข้อมูลจาก ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า โรคนอนหยุดหายใจชนิดอุดกั้น คือ ในขณะที่เรานอนหลับ กล้ามเนื้อที่คอยทำหน้าที่ตึงตัวและช่วยขยายทางเดินหายใจในช่องคอจะหย่อนตัวลง ซึ่งภาวะนี้เองทำให้ทางเดินหายใจแคบลง แต่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในเด็กหรือคนทั่วไป แต่ในผู้ป่วย OSA ทางเดินหายใจจะตีบแคบลงมาก ทำให้การหายใจลำบากขึ้น สมองจะรับรู้ภาวะนี้และสั่งการให้เพิ่มแรงในการหายใจ
สิ่งนี้จะกระตุ้นให้สมองตื่นเพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อช่องคอกลับมาตึงตัวและเปิดทางเดินหายใจอีกครั้ง ซึ่งวงจรเหล่านี้จะเกิดขึ้นซ้ำๆ นับสิบหรือถึงร้อยครั้งในแต่ละคืน ทำให้รบกวนการนอนหลับและส่งผลให้สมองไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอขณะนอนหลับ
ซึ่งอาจทำให้เกิดผลเสียได้ เช่น เกิดภาวะง่วงนอนผิดปกติ ขณะทำงานหรือขับรถ และเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือดฉับพลัน โรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน โรคซึมเศร้า และโรคอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม สัญญาณว่าต้องสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ได้แก่
1. เสียงกรนที่ดังแม้กระทั่งปิดประตูยังได้ยิน
2. ลักษณะของการกรนแล้วหยุดเป็นพักๆ ตามด้วยเหมือนอาการสำลักขณะนอนหลับ หรือมีผู้สังเกตเห็นว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
3. ภาวะง่วงนอนผิดปกติ เช่น ขณะทำงานหรือหลับในขณะขับรถ
4. ไม่มีสมาธิ ขี้ลืม
5. ปวดศีรษะหลังตื่นนอนตอนเช้า
6. ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
7. ความรู้สึกทางเพศลดลง
ข้อมูลจาก SCMP
ข้อมูลจาก ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์