หลาน 3 ขวบกินซองกันชื้น ยายรีบให้นมให้ดื่มก่อนส่งโรงพยาบาล วิธีนี้หมอยังชม
ยายเกือบสติแตก หลานชาย 3 ขวบกินซองกันชื้น รีบให้นมให้ดื่มก่อนส่งโรงพยาบาล พอถึงมือหมอ ผลลัพธ์ทำหมอยังชื่นชม
หลาน 3 ขวบกินซองกันชื้น ยายรีบให้นมให้ดื่มก่อนส่งโรงพยาบาล วิธีนี้หมอยังชม : อีกหนึ่งเคสที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม สำหรับใครที่มีลูกเล็กเด็กแดงที่มักจะชอบนำสิ่งของเข้าปากประจำโดยอาจจะยังไม่ทราบว่า สิ่งนั้นกินได้หรือไม่ ซึ่งเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ต้องชื่นชมคุณยายที่คุมสติอยู่ หลังจากที่หลานวัย 3 ขวบกิน ซองกันชื้น เข้าไป
เรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศจีน ซึ่งตามรายงานระบุว่า คุณยายได้เลี้ยงหลานวัย 3 ขวบเนื่องจากพ่อและแม่ของเด็กต้องไปทำงานต่างถิ่น ซึ่งปกติคุณยายจะดูแลหลานอย่างดี ทั้งให้ความเอาใจใส่และห่วงใยหลานอย่างมาก
แต่แล้ววันที่คุณยายผิดพลาดก็มาถึง เมื่อคุณยายยุ่งอยู่กับการล้างผัก ขณะที่ หลานบ่นว่าอยากกินขนม คุณยายจึงเปิดถุงขนมปังแล้วส่งให้หลาน หลังจากนั้นก็กลับเข้าครัวทำอาหารต่อ แต่เมื่อกลับออกมาด้านนอกก็พบว่าหลานชายกัดซองดูดความชื้นในขนมปัง และกินเม็ดดูดความชื้นข้างในไปเกือบหมดแล้ว
ตอนแรกคุณยายยอมรับว่าค่อนข้างหวาดกลัว แต่ก็ต้องพยายามสงบสติอย่างรวดเร็ว รีบวิ่งไปหาหลานชายแล้วหยิบเม็ดดูดความชื้นในปากที่ยังไม่ได้กลืนออกมา จากนั้นก็นำนมจากในตู้มาให้ดื่ม ทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 60 วินาทีเท่านั้น ก่อนรีบพาหลานชายไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
และถือว่าโชคดีสุดๆ เพราะหลังจากที่ตรวจร่างกายของหลานแล้ว คุณหมอไม่พบปัญหาร้ายแรงอะไร และยังได้ถามคุณยายเกี่ยวกับมาตรการที่ใช้เพื่อ "จัดการ" สถานการณ์นี้ในเบื้องต้น ซึ่งหลังจากฟังวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นของคุณยายจบแล้ว คุณหมอก็พยักหน้าเห็นด้วยอย่างยิ่ง และชื่นชมการตอบสนองที่รวดเร็วของคุณยาย
สำหรับสารดูดความชื้นมักมีส่วนประกอบทางเคมีทั่วไปซึ่งก็คือ "ปูนขาว" หากสัมผัสกับน้ำจะมีฤทธิ์กัดกร่อนต่อร่างกายมนุษย์อย่างมาก ดังนั้น หากเด็กเล็กกลืนสารนี้เข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจ สารนี้อาจเข้าสู่กระเพาะของเด็กและอาจนำไปสู่ "การไหม้" สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงได้
ทั้งนี้หากใครที่เผลอกินสารดูดความชื้นเข้าไปแล้ว สามารถปฐมพยาบาลด้วยการให้ดื่มนมได้เหมือนกับที่คุณยายในเรื่องนี้ทำ เพราะมาตรการตอบสนองฉุกเฉินมีความสำคัญมาก เนื่องจากสามารถป้องกันผลกระทบร้ายแรงได้
โดยขั้นตอนมีดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 : ทำความสะอาดปาก เมื่อพบว่าเด็กกลืนสารดูดความชื้นเข้าไป ต้องทำความสะอาดปากของเด็กทันที โดยให้เด็กบ้วนส่วนที่ยังไม่ได้กลืนออกมา หรือใช้นิ้วช่วยหยิบออกมา เพื่อหลีกเลี่ยงสารเคมีทำให้เกิดแผลเพลิงไหม้ในปาก
แต่ถ้าเด็กเผลอกลืนเม็ดดูดความชื้นมากเกินไป จำเป็นต้องกระตุ้นให้เด็กอาเจียนออกมา ในเวลานี้สามารถตบหลังเด็กเบาๆ เพื่อช่วยให้เอาสารดูดความชื้นออกจากกระเพาะ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความเสียหายร้ายแรงกว่านี้
ขั้นตอนที่ 2 : ให้ดื่มนม ซึ่งนมจะมีบทบาทสำคัญมากในสถานการณ์เช่นนี้ ดังที่ทราบกันดีว่า ส่วนผสมหลักในสารดูดความชื้นคือปูนขาว ซึ่งอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาเคมีที่เป็นอันตรายเมื่อสัมผัสกับน้ำ ซึ่งนมมีความสามารถในการเจือจางปูนขาว ลดความแรงของปฏิกิริยาเหล่านี้ พร้อมทั้งปกป้องอวัยวะของเด็กจากความเสียหาย ดังนั้นการที่คุณยายให้นมหลานทานทันทีในสถานการณ์ข้างต้น ถือเป็นมาตรการที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
และสุดท้ายให้พาเด็กไปตรวจที่สถานพยาบาล แม้ว่าผู้ปกครองจะใช้มาตรการปฐมพยาบาลแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถรับประกันได้ว่าเด็กจะปลอดภัย ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงต้องพาเด็กไปสถานพยาบาลเพื่อรับการตรวจและรักษาทันที
อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญกว่านั้น พ่อแม่ต้องมีความกระตือรือร้นในการป้องกันสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเด็กๆ และฝึกฝนทักษะการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้สามารถตอบสนองได้ทันท่วงทีเหมือนคุณยายในเรื่องข้างต้นนี้
ข้อมูลจาก yeah1