ทำได้จริงหรือไม่! เปิดบทวิเคราะห์นโยบายค่าโดยสาร รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

07 กันยายน 2566
29

เป็นเรื่องที่คนกรุงฯอยากได้เกิดมากที่สุด สำหรับนโยบาย ค่าโดยสาร รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ของ พรรคเพื่อไทย โดยล่าสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับ ประเด็นดังกล่าว ต่อไปนี้

ทำได้จริงหรือไม่! เปิดบทวิเคราะห์นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย

 

 

 

 

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊กประเด็นนโยบายพรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับ"ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" โดยได้มีการวิเคราะห์ว่านโยบายดังกล่าวว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำได้หรือไม่นั้น

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

จากกรณี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม บอกว่า “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นนโยบายเร่งด่วน แต่ต้องใช้เวลาเจรจาไม่น่าจะเกิน 2 ปี” นโยบายสำคัญเช่นนี้รัฐบาลจะทำได้ หรือจะล้มเหลวเหมือนในอดีต ติดตามได้จากบทความนี้

ทำได้จริงหรือไม่! เปิดบทวิเคราะห์นโยบายค่าโดยสาร รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
 

1. หาเสียงเลือกตั้งปี 2566

พรรคเพื่อไทยหาเสียงกับชาวกรุงเทพฯ ว่าจะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยไม่บอกรายละเอียดว่านั่งรถไฟฟ้าได้สายเดียว หรือหลายสาย มีวิธีการทำอย่างไร คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลเข้าใจกันว่าเมื่อพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลเสร็จแล้วคงจะได้นั่งรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในไม่นาน แต่ก็ต้องผิดหวังอย่างแรง เมื่อ รมว. คมนาคม เผยว่าต้องรออีก 2 ปี ทั้งที่บอกว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน จะต้องทำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ไม่ใช่ให้รอถึง 2 ปี

2. รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทำได้จริงหรือ?

ผมขอตอบว่าทำได้จริง ถ้ารัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้เดินรถไฟฟ้า อันประกอบด้วยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด ตามด้วยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทยตามลำดับ ก่อนจะหาเสียงด้วยนโยบายนี้ หากมีการเตรียมข้อมูลดังต่อไปนี้ไว้ก่อน ก็จะสามารถทำให้นโยบายนี้เป็นจริงได้โดยเร็ว ไม่ใช่ให้รอถึง 2 ปีรายได้จากค่าโดยสารของผู้เดินรถไฟฟ้าตามอัตราค่าโดยสารในปัจจุบัน
รายได้จากค่าโดยสารกรณีเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ซึ่งประกอบด้วยรายได้จากผู้โดยสารเดิม (รวมทั้งผู้โดยสารเดิมที่จะเดินทางเพิ่มขึ้น) และรายได้จากผู้โดยสารใหม่ (ผู้โดยสารที่ในปัจจุบันไม่ได้ใช้รถไฟฟ้า แต่เมื่อค่าโดยสารถูกลง เขาเหล่านี้จะหันมาใช้รถไฟฟ้า)
ผลต่างของรายได้ทั้ง 2 ข้อดังกล่าวข้างต้น คือรายได้ที่ผู้เดินรถไฟฟ้าได้รับน้อยลง นั่นคือเงินชดเชยที่รัฐบาลจะต้องจ่ายให้เขา

ถ้าต้องการให้นโยบายนี้สำเร็จโดยด่วน กระทรวงคมนาคมสามารถหาข้อมูลดังกล่าวได้ทันที ผมมั่นใจว่าถ้ารัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้ผู้เดินรถไฟฟ้า รัฐบาลจะได้รับความร่วมมืออย่างดี ดังนั้น การบอกให้รอถึง 2 ปี จึงเป็นข้ออ้างที่ยากจะเชื่อ
 

3. ความล้มเหลวในอดีต

ผมอยากให้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เกิดขึ้นได้จริง ไม่อยากให้ล้มเหลวเหมือนในอดีตที่รัฐบาลไม่สามารถทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลงได้ ดังนี้

ปี 2547 รัฐบาลในขณะนั้น อยากจะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าลดลงเหลือ 15 บาทตลอดสาย มีแนวคิดที่จะซื้อสัมปทานคืน ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก สุดท้ายก็ล้มเหลว
ปี 2554 ตอนหาเสียงเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย แต่พอได้เป็นรัฐบาลกลับไม่ทำ ในขณะนั้นผมเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งกระทู้สดถาม รมว. คมนาคม (ในขณะนั้น) ว่าทำไมไม่ทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าลดลงเหลือ 20 บาทตลอดสายตามที่ได้หาเสียงไว้ คำตอบที่ได้คือต้องรอให้ก่อสร้างรถไฟฟ้าครบ 10 สายก่อน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะก่อสร้างรถไฟฟ้าให้ครบ 10 สาย ภายในระยะเวลาของรัฐบาล คือ 4 ปี

4. ข้อเสนอแนะ 

ผมมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลดังนี้

เพื่อทำให้คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลสามารถใช้รถไฟฟ้าได้มากขึ้นให้คุ้มค่ากับเงินลงทุน และเพื่อช่วยให้ผู้โดยสารประหยัดค่าเดินทาง ผมขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาใช้นโยบาย “ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 50 บาท ทั้งวัน ทุกสาย ไม่อั้น”

นั่นหมายความว่า ผู้โดยสารจ่ายเพียง 50 บาท จะขึ้นลงรถไฟฟ้าสายไหน สีไหน กี่เที่ยวก็ได้ภายใน 1 วัน ถ้าใช้รถไฟฟ้า 2 เที่ยวต่อวัน ค่าโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยว 25 บาท ถ้าใช้รถไฟฟ้า 4 เที่ยวต่อวัน ค่าโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวเหลือเพียง 12.50 บาท เท่านั้น ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสามารถเลือกซื้อตั๋วที่เหมาะสมกับตน หากเห็นว่าตั๋ว 50 บาท ทั้งวัน ถูกกว่าก็ซื้อตั๋วนี้ หากเห็นว่าตั๋วเที่ยวเดียวถูกกว่าก็ซื้อตั๋วเที่ยวเดียว

ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องเจรจากับผู้เดินรถไฟฟ้าทุกรายให้ยอมรับอัตราค่าโดยสารนี้ โดยรัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างรายได้จากค่าโดยสารให้ จากการประเมินพบว่ารัฐบาลจะต้องชดเชยส่วนต่างในปีแรกที่ใช้อัตราค่าโดยสารนี้ประมาณ 7,500 ล้านบาท เงินชดเชยนี้จะลดลงเมื่อมีผู้โดยสารใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

นโยบาย “ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 50 บาท ทั้งวัน ทุกสาย ไม่อั้น” จะช่วยประหยัดเวลาเดินทาง ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และลดมลพิษโดยเฉพาะ PM 2.5 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่าเงินที่รัฐบาลจะต้องชดเชยให้ผู้เดินรถไฟฟ้าอย่างแน่นอน

5. สรุป

ถ้ารัฐบาลจริงจังกับการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ไม่ใช้วาทศิลป์สนองตอบคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้กับพี่น้องประชาชน จะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงในเวลาไม่นานนี้แน่นอนครับ

ทำได้จริงหรือไม่! เปิดบทวิเคราะห์นโยบายค่าโดยสาร รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย


cr เฟซบุ๊ก : ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte