พบวาฬดึกดำบรรพ์ อาจเป็นสัตว์ที่หนักที่สุดในโลก ต้องใช้เวลาในการขนย้าย 3 ปี
ฮือฮา ผลการศึกษาล่าสุดพบวาฬดึกดำบรรพ์ อาจเป็นสัตว์ที่หนักที่สุดในโลกเท่าที่เคยบันทึกไว้ ต้องใช้เวลาในการขนย้ายถึง 3 ปี
พบวาฬดึกดำบรรพ์ อาจเป็นสัตว์ที่หนักที่สุดในโลก ต้องใช้เวลาในการขนย้าย 3 ปี : กำลังเป็นที่ฮือฮาอย่างมาก หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ เปิดเผยเมื่อวันพุธ (2 สิงหาคม 2566) ว่า พบฟอสซิลกระดูก 18 ชิ้นของวาฬดึกดำบรรพ์ ในทะเลทรายทางภาคใต้ของเปรูเมื่อ 13 ปีที่แล้ว แต่ด้วยขนาดและรูปร่างของชิ้นส่วนที่พบต้องใช้เวลา 3 ปี ในการขนย้ายไปยังกรุงลิมา เมืองหลวงของเปรู หลังจากนั้นก็มีการศึกษาวิจัยเรื่อยมา และเชื่อว่า วาฬตัวนี้อาจมีชีวิตอยู่เมื่อ 39 ล้านปีที่แล้ว พร้อมกับตั้งชื่อให้ว่า เปรูซิตัส โคลอสซัส (Perucetus colossus)
โดยปัจจุบันฟอสซิลถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในกรุงลิมา ชิ้นส่วนที่พบเป็นของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเล ที่เรียกว่า บาซิโลซอริดส์ (Basilosaurids) ที่เป็นบรรพบุรุษของวาฬยุคโบราณ ประกอบด้วย กระดูกสันหลังขนาดใหญ่ 13 ชิ้น , กระดูกซี่โครง 4 ชิ้น และส่วนหนึ่งของกระดูกสะโพก แม้ชิ้นส่วนที่พบเป็นเพียงบางส่วน แต่นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ได้อย่างมาก
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ คาดว่า วาฬตัวนี้มีความยาวเกือบ 17-20 เมตร ซึ่งไม่ได้ยาวมาก แต่มวลกระดูกอย่างเดียวอาจมีน้ำหนักระหว่าง 5.3 - 7.6 ตัน และเมื่อรวมอวัยวะ กล้ามเนื้อ และไขมัน อาจมีน้ำหนักตัวรวมระหว่าง 85 - 340 ตันตามแต่ข้อสันนิษฐาน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เลือกใช้ค่าเฉลี่ยที่ 180 ตัน
ขณะที่วาฬสีน้ำเงินในยุคปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ตัวใหญ่ที่สุดและหนักมากที่สุดในโลก และเท่าที่กินเนส เวิลด์ เรคคอร์ด เคยบันทึกไว้ วาฬสีน้ำเงินตัวใหญ่ที่สุดมีน้ำหนักตัว 190 ตัน
แต่นักวิจัยระมัดระวังที่จะไม่ประกาศว่า วาฬดึกดำบรรพ์ที่พบสามารถทำสถิติเป็นสัตว์ที่น้ำหนักมากที่สุดในโลก โดยบอกว่า ยังไม่มีเหตุผลที่จะคิดว่า มันเป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ด้าน ดร. เอลี แอมสัน ผู้ร่วมจัดทำรายงานการวิจัยการค้นพบฟอสซิลวาฬครั้งนี้ เปิดเผยว่า เปรูซิตัส โคลอสซัส อาจมีลักษณะหัวเล็กมากเมื่อเทียบกับลำตัว เหมือนกับ บาซิโลซอริด ตัวอื่นๆ แต่ยังไม่มีหลักฐานจากกระดูกเพื่อยืนยันสิ่งนี้ และเมื่อไม่พบหลักฐานส่วนฟัน ทำให้ไม่อาจบอกได้ว่า มันกินอาหารประเภทใด ขณะที่นักวิจัยมั่นใจว่า วาฬตัวนี้อาศัยอยู่ในน้ำตื้นในสภาพแวดล้อมริมชายฝั่ง เพราะกระดูกมีน้ำหนักมากเป็นพิเศษ โดยโครงกระดูกทั้งหมดอาจมีน้ำหนัก 5 - 7 ตัน มากกว่าสองเท่าของโครงกระดูกของวาฬสีน้ำเงิน
ทั้งนี้ เปรูซิตัส โคลอสซัส จำเป็นต้องมีกระดูกที่หนักเพื่อให้สมดุลกับปริมาณไขมันระหว่างผิวหนังและกล้ามเนื้อของวาฬ และลมในปอด ซึ่งอาจทำให้มันสามารถลอยขึ้นสู่ผิวน้ำได้ และดร. แอมซัน อธิบายว่า เมื่อความหนาแน่นของกระดูกและปริมาณไขมันสมดุลกัน จะทำให้สัตว์ขนาดใหญ่ตัวนี้สามารถลอยอยู่ในน้ำลึกราว 10 เมตรโดยไม่ต้องขยับกล้ามเนื้อ