เตือนภัย! มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นสรรพากรหลอกเอาเงินประชาชน

01 พฤษภาคม 2566
31

ทางด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับกรมสรรพากร เตือนภัยประชาชน จากมิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็นกรมสรรพากรหลอกลวงประชาชน และในรอบสัปดาห์ 

เตือนภัย! มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นสรรพากรหลอกเอาเงินประชาชน

เตือนภัย! มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นสรรพากรหลอกเอาเงินประชาชน

 

แนะจุดสังเกต-วิธีป้องกัน จากมิจฉาชีพเหล่านี้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร./หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะทำงาน เป็นห่วงพี่น้องประชาชน ที่อาจจะตกเป็นเหยื่ออีก จึงได้ร่วมกับกรมสรรพากร โดย นาย วินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร แถลงข่าวเตือนภัย เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2566 เวลา 14.00 น. ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีรายละเอียดดังนี้

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (23-29 เม.ย.2566) มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1) คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2) คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 3) คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 4) คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) และ 5) คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์

ภัยออนไลน์ที่น่าสนใจและเกิดขึ้นมากในรอบสัปดาห์ มีจำนวน 2 เรื่อง ดังนี้

สรรหาวิธีแอบอ้างสรรพากร หลอกเอาเงิน

รูปแบบแรก แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหาผู้เสียหายแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร และกล่าวหาผู้เสียหายว่ามีการกระทำผิด เช่น ติดค้างค่าภาษีจากการก่อตั้งบริษัท หรือถูกแอบอ้างเอาข้อมูลไปใช้เปิดบริษัท หรือมีคดีฟอกเงิน หรือเลี่ยงภาษี แล้วให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อน LINE สถานีตำรวจที่ไกลจากบ้านผู้เสียหาย(LINE ปลอมของคนร้าย) แล้วส่งเอกสารปลอมข่มขู่ให้เชื่อ และหลอกให้โอนเงินอ้างว่าเป็นการตรวจสอบข้อมูล จากนั้นให้เพิ่มเพื่อน LINE กับ ปปง. (LINE ปลอมของคนร้าย) แล้วหลอกให้โอนเงินเพิ่มอีก

 

รูปแบบที่ 2 แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหาผู้เสียหาย แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากร สามารถช่วยยกเลิกหรือสมัครโครงการต่างๆ ของ รัฐบาล เช่น ธงฟ้า คนละครึ่ง ถุงเงิน บัตรประชารัฐ หรือลดหย่อนภาษี หรือช่วยดำเนินการไม่ให้เสียภาษีย้อนหลัง แล้วให้ผู้เสียหายเข้าเว็บปลอมเพื่อกรอกและเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว จากนั้นให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเพื่อเข้าควบคุมเครื่องโทรศัพท์ แล้วโอนเงินของผู้เสียหายออกไป

จุดสังเกต

1) ชื่อเว็บไซต์กรมสรรพากรปลอม เช่น https://www.rd-go-th.xyz, https://www.rd-go- th.co, https://www.rd-go-th.top และ https://www.rd-go-th.org เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร ซึ่งมีจุดสังเกตหลายจุด

2) หนังสือราชการที่ใช้ข่มขู่ ไม่เป็นไปตามแบบฟอร์มและภาษาของทางราชการ

3) บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ แบบอักษรที่ใช้ ชื่อ ยศ ตำแหน่ง ไม่ถูกต้อง

4) กรมสรรพากร สถานีตำรวจ และ ปปง. ไม่มีช่องทางติดต่อบัญชี LINE ส่วนตัวที่สามารถส่งสติ๊กเกอร์ โทร วีดีโอคอล หรือดู LINE VOOM ได้

 

วิธีป้องกัน

1) ศึกษาช่องทางการติดต่อกรมสรรพากร ซึ่งมี 2 ช่องทาง คือ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาและทางออนไลน์ ผ่านระบบ e-Filing ของกรมสรรพากร

2) ตรวจสอบชื่อเว็บไซต์ที่ถูกต้องของกรมสรรพากร คือ https://www.rd.go.th ก่อนกระทำการใดๆ

3) สอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161

4) สำหรับการดาวน์โหลดเว็บไซต์ของทางราชการหรือแอพพลิเคชันต่างๆ ควรดาวน์โหลดจาก Appstore และ Play Store กรณีมีความจำเป็นต้องกดลิงก์ดาวน์โหลด ควรไปค้นหาใน Appstore และ Play Store เพื่อเป็นการกรองอีกชั้นหนึ่ง


2. ซื้อสินค้ามือสอง แต่ได้สินค้ามือเปล่า

คดีนี้มิจฉาชีพทำการสร้างเพจ หรือ โพสตามเพจต่างๆ เพื่อซื้อขายสินค้ามือสอง (โทรศัพท์,ไอแพด,ไอพอด ฯลฯ) หรือสินค้าทั่วไป โดยใช้รูปโปรไฟล์เป็นผู้หญิงหน้าตาดีหรือสร้างเพจขึ้นมาโดยใช้ชื่ออื่น จนมีผู้ติดตามจำนวนมาก รวมถึงมีหน้าม้ากดเพิ่มเครดิต จนมีความน่าเชื่อถือ หลอกขายสินค้ามือสองหรือสินค้าทั่วไป โดยให้ผู้เสียหายจ่ายเงินมัดจำ หรือ จ่ายเงินก่อน เมื่อผู้เสียหายโอนเงินให้แล้ว จะไม่ส่งสินค้าให้ แล้วบล็อกผู้เสียหายไม่ให้ติดต่อได้ ซึ่งสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ

โทรศัพท์/Ipad โดยโทรศัพท์ส่วนใหญ่เป็น Iphone โดยหลอกผ่านเพจ Facebook

ผลไม้หรือของกิน เช่น อาหารคลีน นมกล่อง โดยหลอกผ่านเพจ Facebook

เสื้อผ้า ของแบรนด์เนม โดยหลอกผ่านเพจ Facebook/IG

เกมส์ (จ้างอัพเลเวล หรือซื้อเกมส์) โดยหลอกผ่านเพจ Facebook/IG

บัตรงาน บัตรคอนเสิร์ต โดยหลอกผ่าน Twitter/IG

ความเสียหายจากการหลอกขายสินค้าและบริการ ตั้งแต่ 1 มี.ค.65 ถึง 29 เม.ย.66 จำนวน 89,577 เคส ความเสียหาย 1,308,527,198 บาท

จุดสังเกต

1) ถ้าเป็นเพจทางการ(Official) จะมี “เครื่องหมาย” ถูกแสดงให้เห็น

2) ดูว่ามีคนกดไลค์โพส จำนวนเท่าใด และมีการกดอิโมชันด้านลบ และปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นหรือไม่

3) ดูความโปร่งใสว่า ประวัติเพจเปิดมานานหรือไม่ เปลี่ยนชื่อบ่อยและสอดคล้องกับสินค้าที่โพสขายหรือไม่ คนจัดการเพจอยู่ประเทศใด 

สอดคล้องกับเพจหรือไม่ และควรนำชื่อเพจไปค้นหาในเพจ Facebook เปรียบเทียบของจริง และสร้างจำนวนผู้ติดตามหรือคนถูกใจในข้อมูลเพิ่มเติม(เกี่ยวกับ) ให้เข้าใจผิดว่ามีจำนวนมาก

วิธีป้องกัน

1) ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเพจ โดยดูจากจุดสังเกต

2) ควรทำการเช็กเครดิตการซื้อขายก่อน เช่น โพสถามหาเครดิต หรือตรวจสอบ ประวัติเบื้องต้น จาก www.blacklistseller.com ว่ามีประวัติหรือไม่

3) กรณีโพสต์ถามหาเครดิตแล้วมีคนมาตอบ ก็ควรเช็กให้ละเอียดอีกทีว่า บุคคลที่มาให้เครดิตนั้นมีตัวตนจริงๆไหม

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนพิจารณาดูจุดสังเกตของความแตกต่าง ระหว่างเว็บไซต์หรือเพจของจริงกับของปลอม และศึกษาวิธีป้องกันมิให้ตกเป็นเหยื่อของภัยออนไลน์ เพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ และสามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้จาก เว็บไซต์ และเพจเตือนภัยออนไลน์ หรือโทรสายด่วน 1441 หากพบการกระทำผิด แจ้งความได้ที่ www.thaipoliceonline.com