สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผย ผู้ป่วยโควิด - 19 หลังหายแล้ว อาจเจอกับภาวะ Long COVID ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยได้
ภาวะ Long COVID คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการใหม่หรืออาการต่อเนื่องของโรคโควิด - 19 หลงเหลือ ต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน มักพบมีอาการภายหลังได้รับเชื้อ 4 - 12 สัปดาห์ สามารถเกิดอาการได้ในทุกระบบร่างกาย เนื่องจากอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายที่เสื่อมลงร่วมกับการอักเสบจากโควิด - 19 แต่อาจแตกต่างกันตามแต่ละบุคคล โดยอาจขึ้นอยู่กับอายุ เพศ และโรคประจำตัวของผู้ป่วย
ผู้ป่วยสามารถเกิดอาการได้ดังนี้
1) อาการทั่วไปของร่างกาย เช่น อ่อนเพลีย อ่อนล้า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ
2) อาการระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ใจสั่น เจ็บหน้าอก
3) อาการระบบทางเดินหายใจ เช่น เหนื่อยง่าย ไอเรื้อรัง
4) อาการทางระบบประสาท เช่น หลงลืม อ่อนแรงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อลีบ
5) อาการทางผิวหนัง เช่น ผมร่วง
6) อาการทางสุขภาพจิต เช่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ ซึมเศร้า
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสามารถหายจากอาการ Long COVID ได้ หากหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
แนวทางการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วย Long COVID เบื้องต้น
1. ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ
2. ฝึกการหายใจแบบช้าและลึก
3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่
4. หลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ
5. ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
6. เว้นระยะห่างจากผู้อื่น
7. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในการดูแลรักษาสุขภาพ
ภาวะ Long COVID มักพบมากในผู้ป่วยเพศหญิง ผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักตัวมาก ผู้มีประวัติเป็นโรคหัวใจ ผู้ที่มีอาการติดเชื้อรุนแรง และผู้สูงอายุ โดยในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบถึงสาเหตุของการเกิดภาวะ Long COVID ที่ชัดเจน เมื่อเวลาผ่านไปอาการอาจดีขึ้นหรือกลับมาเกิดซ้ำได้ ดังนั้นการรักษาจึงเป็นไปตามอาการของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งหากอาการจาก Long COVID ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาตามอาการ
ที่มา
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล