ยังคงต้องจับตาสำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย วันนี้ 12 เม.ย. 65 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 23,015 ราย หายป่วยเพิ่ม 27,626 ราย เสียชีวิต 106 ราย และยังมีเรื่องของสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) ที่สามารถแพร่กระจายได้รวดเร็ว และอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ป่วยโควิดต้องระวังคือเชื้อไวรัสลงปอด เพราะฉะนั้นประชาชนต้องหมั่นสังเกตอาการของตนเอง ว่ามีความเสี่ยงที่เชื้อจะลงปอดหรือไม่ เพื่อตรวจและทำการรักษาโดยเร็ว
วิธีสังเกตว่าโควิดลงปอดหรือยัง
จากข้อมูลพบว่ามีโอกาสที่เชื้อจะลงปอดและมีอาการปอดอักเสบระยะต้น ในช่วง 5 วันหลังได้รับเชื้อหรือเริ่มมีอาการ และปอดอักเสบระยะที่ 2 จะอยู่ในช่วง 10-15 วัน ซึ่งอาการแสดงที่เป็นสัญญาณว่าเชื้อไวรัสโคโรนาอาจเข้าสู่ปอดแล้ว ดังนี้
- มีอาการไข้มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส
- ไอ ทั้งไอแห้ง หรือไอแบบมีเสมหะ
- หายใจลำบาก
- รู้สึกเหนื่อย หรือหอบ
- เหนื่อยง่ายขึ้น
- รู้สึกหายใจไม่เต็มปอด
- แน่นหน้าอก
- ค่าออกซิเจนต่ำอยู่ที่ 94% หรือต่ำกว่านั้น จะเป็นสัญญาณว่าเชื้อโควิดลงปอด
ทั้งนี้ หากมีอาการที่กล่าวมานี้ควรรีบแจ้งแพทย์โดยเร็ว เพื่อแพทย์จะเอกซเรย์ปอด หรือ CT Scan เพื่อวินิจฉัยภาวะปอดอักเสบก่อนทำการรักษา
โควิดลงปอดควรทำอย่างไร
เมื่อเชื้อไวรัสโควิดลงปอดในผู้ป่วยที่กำลังรอเข้ารับการรักษา Hospitel หรือผู้ป่วยที่รักษาแบบ Home Isolation สามารถลดความรุนแรงของอาการได้ด้วยการปฏิบัติดังนี้
- จัดท่านอนให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น ให้กอดหมอนไว้ที่หน้าอก แล้วนอนคว่ำ โดยให้หน้าตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง เนื่องจากว่าหากนอนหงายปอด 2 ใน 3 อยู่ทางด้านหลัง ทำให้น้ำหนักตัวกับน้ำหนักของหัวใจไปกดบริเวณปอด ปอดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
- ถ้านอนคว่ำไม่ได้ นอนตะแคง กึ่งคว่ำ หรือเฉียงตัวประมาณ 45 องศา
- หญิงตั้งครรภ์ แนะนำให้นอนโดยตะแคงด้านซ้ายลง และเฉียงตัวประมาณ 45 องศา เพื่อช่วยให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น
- ขยับขาบ่อยๆ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด เช่น งอเข่าเข้าออก หรือเหยียดปลายเท้าแล้วดึงเข้าหาตัว ให้เกิดการเคลื่อนไหวบริเวณกล้ามเนื้อส่วนน่องและส่วนขา ทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ช่วยป้องกันการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
- วิธีเข้าห้องน้ำ สำหรับผู้ที่โควิดลงปอด แต่ยังรอเตียงอยู่ที่บ้าน ถ้าเหนื่อยมาก อย่าเข้าห้องน้ำ การเบ่งถ่ายอาจทำให้หมดสติได้ ให้เตรียมที่สำหรับถ่ายไว้ข้างเตียง เช่น กระโถน
- หากท้องผูก ให้ทานยาระบายอ่อนๆ
- ดื่มน้ำมา ๆ ประมาณ 2 ลิตรต่อวัน แต่อย่าทานน้ำมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เกลือแร่ในร่างกายเจือจาง
- ถ้าทานอาหารไม่ได้ควรดื่มน้ำเกลือแร่
- หากมียาที่ต้องทานประจำ แนะนำให้ทานยาให้ต่อเนื่อง
- สำหรับยาที่อาจจะต้องพิจารณาเป็นพิเศษ หรือควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ก่อนการปรับหรือหยุดยา ประกอบไปด้วย ยาขับปัสสาวะ หากป่วยโควิด ดื่มน้ำไม่ได้ ควรงดยาในกลุ่มนี้ หรือลดขนาดยาลงครึ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อย ยาลดความดันโลหิตสูง ให้วัดค่าความดันทุกวัน หากต่ำว่า 90/60 ควรงดยา เพื่อป้องกันอาการช็อค หรือหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
- สำหรับผู้ที่ไม่มีเครื่องวัดความดัน หากไม่สามารถทานอาหารหรือน้ำได้ แนะนำให้งดยาความดันโลหิตสูงก่อน แต่หากทานยาความดันโลหิตสูงอยู่หลายตัวควรงดแค่ 1 ตัว ควรปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษาก่อนงดยา
- ยาโรคเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโควิด ควรวัดค่าน้ำตาลอย่างสม่ำเสมอ หากวัดค่าน้ำตาลได้ต่ำ และไม่สามารถทานอาหารหรือน้ำได้ ควรงดอินซูลิน
- ถ้ามีไข้ ให้ทานยาพาราเซตตามอลเท่านั้น
การรักษาโควิดลงปอด
- การใช้ยาต้านไวรัส ซึ่งยาต้านไวรัสจะเข้าไปฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสโควิด-19 แบ่งตัวเพิ่มเติม และทำลายเซลล์ในอวัยวะต่างๆ อีกทั้งยังมีการใช้ยาต้านไวรัสร่วมกับยาแก้อักเสบ เพื่อลดการอักเสบภายในร่างกาย
- การใช้เครื่องช่วยหายใจ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก โดยเฉพาะบริเวณเนื้อปวดที่ถูกทำลาย หรือปอดมีอาการบวมน้ำ
- การใช้เครื่องปอด - หัวใจเทียมแบบเคลื่อนย้าย (Extracorporeal Membrane Oxygenation) หรือ ECMO ซึ่งเครื่องมือชนิดนี้ สามารถฟอกโลหิตของผู้ป่วยแล้วเติมออกซิเจนเข้าไป ก่อนที่จะคืนกลับเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย
ขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลเพชรเวช , โรงพยาบาลศิครินทร์