กางสถิติเทียบชัดๆปริมาณน้ำฝนปี 64 กรมอุตุฯ ยันไม่เกิดน้ำท่วมซ้ำรอยปี 54

30 กันยายน 2564
14

เปิดสถิติเปรียบเทียบปริมาณน้ำฝนปี 2564 ยืนยันน้ำไม่ท่วมซ้ำรอยปี 2554 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำและการระบายน้ำ ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์

วันนี้ 30 ก.ย. 64 อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา  ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ เผยว่าจากสถานการณ์อุทกภัยรุนแรงที่หลายจังหวัดกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง นั้น หลายคนมีความกังวลว่าจะมีน้ำท่วมหนักเหมือนปี 2554 หรือไม่ ทั้งนี้ ทางกรมอุตุนิยมวิทยาขอยืนยันว่า สถานการณ์อุทกภัยดังกล่าวมีความแตกต่างจากปี 2554

 

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา  ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์

1. หากวิเคราะห์จากสถิติข้อมูลอุตุนิยมวิทยา พบว่าภาพรวมของการเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 กับปี 2564 จะมีความแตกต่างกัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบปริมาณฝนที่ตกระหว่างเดือน มกราคม ถึงกันยายน พบว่าในปี 2554 ปริมาณฝนเกือบทุกภาคสูงกว่าปี 2564 ยกเว้นภาคตะวันออกที่ปี 2564 สูงกว่า ปี 2554 เล็กน้อย และในภาพรวมทั้งประเทศพบว่า ปี 2554 มีฝนมากกว่า ปี 2564 ถึง 20%


2. เปรียบเทียบพื้นที่และการกระจายของฝน ตั้งแต่ช่วงก่อนและเข้าสู่ฤดูฝน พบว่า ในปี 2554 พื้นที่ที่มีฝนตกและตกต่อเนื่องได้แก่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และภาคกลางตอนบน ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมเป็นจำนวนมากในลุ่มน้ำสายหลัก  รวมทั้งเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เต็มความจุตั้งแต่ต้นปี และในช่วงกลางฤดูฝนถึงปลายฤดูฝน การระบายน้ำสามารถทำได้น้อยเนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่อง ทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน ขณะที่ในปี 2564 ช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูฝน (เม.ย.- ต้น พ.ค.) การกระจายฝนดี แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนพบว่า ปริมาณฝนที่ตกน้อยลง โดยเฉพาะช่วงปลายเดือน พ.ค. ถึง มิ.ย.มีปริมาณฝนน้อยและบางพื้นที่มีฝนทิ้งช่วงหลายสัปดาห์


-เตือน 8 จังหวัดท้ายเขื่อน รวมกรุงเทพฯ ติดตามสถานการณ์น้ำเจ้าพระยา 1- 5 ต.ค.
-เขื่อนพระราม 6 ปักธงแดง เตือนประชาชนเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
-น้ำเต็มความจุ "เขื่อนป่าสักฯ" เร่งระบายเพิ่ม ให้รีบเก็บของขึ้นที่สูงด่วน
 

3. เปรียบเทียบอิทธิพลจากพายุหมุนเขตร้อนพบว่า ในปี 2554 เดือนมิถุนายน ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตอนบนและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย และในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2554 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชัน “ไหหม่า” ในประเทศลาว ทำให้มีฝนตกหนัก หลายพื้นที่


ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2554  ฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน “นกเตน” ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณจังหวัดน่าน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลทางอ้อมจากพายุอีก 3 ลูก ได้แก่ พายุ ไห่ถาง เนสาด และนัลแก ขณะที่ในปี 2564  ช่วงปลายฤดูฝน เดือน กันยายน มีพายุที่เข้าสู่ประเทศไทยเพียงลูกเดียวคือ พายุดีเปรสชั่น “เตี้ยนหมู่


ดังนั้น จึงมีโอกาสน้อยมากที่กรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียงจะเกิดน้ำท่วมแบบปี 2554 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและการระบายน้ำเป็นสำคัญ จึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตระหนกและขอให้ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและประกาศแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา หน่วยงานของทางราชการ  เป็นระยะๆ  หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพื่อเติม สามารถสอบถามได้ที่ เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา www.tmd.go.th

กรมอุตุฯ กางสถิติเทียบชัดปริมาณน้ำฝนปี 64 ยันน้ำไม่ท่วมซ้ำรอยปี 54


 ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews