กทม. ยกระดับศูนย์พักคอย 7 แห่ง เป็นกึ่งโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยมากขึ้น
ตอนนี้ที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากในแต่ละวัน และส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีอาการระดับสีเหลือง-แดงจำนวนมากขึ้นทุกวันเช่นกัน ผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนามอยู่เต็มจำนวน แม้ กทม. จะได้ขยายเตียงเพิ่มมากขึ้นแล้ว
การที่จะรับผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่สามารถรักษาตัวอยู่บ้านได้และผู้ป่วยที่มีอาการระดับเหลืองให้ได้เพิ่มมากขึ้น จึงได้ปรับศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation) ที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องออกซิเจน เครื่องเอกซเรย์ปอด ให้เป็นศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาล (Community Isolation Plus) 7 แห่ง สามารถเพิ่มเตียงโรงพยาบาลสนามได้อีก 1,036 เตียง เพิ่มจากเดิมที่มีโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่แล้ว 7 แห่ง 2,050 เตียง รวมจะมีเตียงโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นเป็น 3,086 เตียง
ศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง มีดังนี้
1. ศูนย์สร้างสุขทุกวัยจตุจักร เขตจตุจักร 120 เตียง
2. อาคารวิทยาลัยเทคโนโลยีพาณิชยการเจ้าพระยา เขตราชเทวี 170 เตียง
3. วัดสุทธิวราราม เขตสาทร 106 เตียง
4. ร้านจงกั๋วเหยียน เขตลาดกระบัง 200 เตียง
5. ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี 200 เตียง
6. วัดศรีสุดาราม (อาคารศาลาวิจิตร รัตนศิริ วิไล) เขตบางกอกน้อย 90 เตียง
7. ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางแค (เรืองสอน) เขตบางแค 150 เตียง
เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการระดับเหลืองได้รักษาเพิ่มขึ้น จะช่วยลดความรุนแรงของการแพร่ระบาดและลดการสูญเสียคนที่รักได้ ศูนย์พักคอยที่ยกระดับเป็นกึ่งโรงพยาบาลสนาม จะทำให้มีเตียงรักษาผู้ป่วยโควิดที่ต้องได้รับการดูแลจากทีมแพทย์อย่างใกล้ชิดเพิ่มขึ้น จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาจนหายและกลับบ้านไปใช้ชีวิตปกติกับครอบครัวได้มากขึ้นด้วย
กทม. เร่งขยายศักยภาพการรักษาผู้ป่วยทุกคนอย่างเต็มกำลัง ทั้งปรับโรงพยาบาลสนามที่รักษาผู้ป่วยระดับเขียวให้สามารถรักษาผู้ป่วยโควิดเหลือง-แดงได้ด้วยที่ รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน และ รพ.สนามราชพิพัฒน์ 2 ทวีวัฒนา ที่เพิ่มเตียงรองรับผู้ป่วยอาการหนัก ICU และยังมีศูนย์พักคอย 60 แห่ง ใน 50 เขต เพื่อแยกรักษาผู้ป่วยจากชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยทุก ๆ คนได้เข้าสู่ระบบการรักษาได้มากที่สุด
ขอบคุณ ผู้ว่าฯ อัศวิน