วันที่ 27 เม.ย. นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งใช้ เป็น รพ.สนามขนาด 100 เตียงของ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้โพสต์ข้อความ และภาพการรักษาผู้ป่วยใน รพ.สิชล ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ Arak Wongworachat ข้อความว่า เบื้องหลังการทำงานของพยาบาลในหอผู้ป่วยโควิด
ยอดผู้ป่วยโดยรวมเวลานี้กว่า 85 ราย และมีแนวโน้มเติมมาเรื่อยๆ โดยใช้อาคารผู้ป่วย 7 ชั้น แยกออกจากผู้ป่วยทั่วไป รับผู้ป่วยโควิดอย่างเดียวแต่ละชั้นรับได้ 28-30 คน โดยจัดเป็นห้องรวม ล็อกละ 6 คน มี 4 ล็อก ได้ 24 คน มีห้องแยกอีก 2 ห้อง ห้องละ 2-3 คน หากเป็นครอบครัวเดียวกัน ในแต่ละชั้นจัดทีมพยาบาล 2-3 คน ผู้ช่วยพยาบาล 1 คน แพทย์ 2 คน ดูแลรวมทุกชั้น และจะมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม กุมารเวชกรรม รังสี วิสัญญี เวชศาสตร์ฉุกเฉินทีมบริหาร คอยสนับสนุนที่ศูนย์รักษาผู้ป่วยโควิดด้านนอก
ผู้ป่วยรับใหม่จะต้องถูกประเมินอาการ ความเสี่ยงที่จะเกิดปอดบวม ความรุนแรง คัดแยกไว้ที่ล็อกหน้าห้องพยาบาล เพื่อง่ายต่อการจัดการ เมื่อเข้าหอผู้ป่วยทุกรายจะถูกเจาะเลือดและเอกซเรย์ปอดไว้เป็นเบื้องต้น วัดสัญญาณชีพ มอบอุปกรณ์ติดตามเช่น ปรอทวัดไข้ดิจิทัล เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดปลายนิ้วแนะนำการใช้เครื่องวัดความดันสอดแขนด้วยตนเอง และการส่งข้อมูลให้ทีมพยาบาลทุก 4-6 ชั่วโมง หากมีผู้ป่วยรายใดที่มีระดับออกซิเจนในเลือดลดลงก็จะรายงานแพทย์เพื่อเอาเครื่องให้ออกซิเจนแรงดันสูงมาใช้งานทันที การให้ยาต้านไวรัสหรือแบคทีเรียอื่นๆ เป็นไปตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโควิดแต่ละระดับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย
เมื่อออกไปเตรียมพร้อมเครื่องมือ แต่งกายรัดกุมชุดPPE หน้ากาก N95 ปิดทับด้วยเสื้อกันละอองฝอย เฟซชิลด์ พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์เข้าไปในห้องผู้ป่วย อาจเจาะเลือดซ้ำในบางราย เสียบสายเครื่องต่อกับออกซิเจน ต่อสายกับผู้ป่วยด้วยความชำนาญ แล้ววัดระดับการเปลี่ยนแปลงค่าออกซิเจนในเลือดเป็นระยะ สังเกตอาการหอบเหนื่อย โดยส่วนใหญ่จะดีขึ้น มีบางรายต้องใส่ท่อ ใช้เครื่องช่วยหายใจ
การงานของพยาบาลแต่ละชุด 14 วัน โดยไม่มีการผลัดเปลี่ยนระหว่างทาง เช้า บ่าย ดึก ต่อเนื่องกันไป 24 ชั่วโมง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นต้องออกมาก่อน ระหว่างทาง การพักนอนงีบหลับ จึงต้องผลัดกันงีบในแต่ละช่วงเวลา แม้สามารถติดตามได้ทางกล้อง แต่ก็ต้องเข้าไปตรวจด้วยตนเองเพราะบางรายอาการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก จึงมักเห็นภาพการงีบหลับบนโต๊ะทำงานหรือเปลี่ยนอิริยาบถ นั่งพื้นก้มหน้าฟุบหลับบนเก้าอี้ก็มี แม้จะมีฟูกให้นอน
แต่ก็ไม่เคยปริปากบ่นท้อถอย ยังคงทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบอย่างแข็งขัน แพทย์เวรจะคอยสั่งการรักษา ปรึกษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดเมื่อครบ 14 วัน ผลัดชุดใหม่เข้ามาแทนรับไม้ต่อ ชุดเดิมกักตัวต่อ อีก14 วัน และตรวจหาเชื้อตามเวลาที่กำหนด เป็นอีกมุมหนึ่งของทีมแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ในหอผู้ป่วยโควิด
ช่วงนี้จึงขอให้อยู่บ้าน ห่างกันไว้ จะช่วยลดความอ่อนล้าของบุคลากรทางการแพทย์ได้มาก และเอาชนะได้ในไม่ช้าหลังจากโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไปได้มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ชื่นชมและให้กำลังใจทีมแพทย์พยาบาลทุกคนที่ทุ่มเททำงาน พร้อมกับขอให้ผ่านพ้นวิกฤติโควิดครั้งนี้ไปได้โดยเร็ว ขณะที่วันที่ 27 เม.ย. ยอดผู้ป่วยใหม่ของ จ.นครศรีธรรมราช เพิ่มขึ้นจำนวน 16 ราย รวมยอดสะสมจำนวน 257 ราย และรักษาหายป่วยแล้ว16 ราย