ไขคำตอบ "ผักเหลียง" มีดีขนาดไหน ถึงขั้นได้ฉายาราชินีแห่งผักพื้นบ้าน
ทางทำกินมีคำตอบมาให้ "ผักเหลียง" มีดีขนาดไหน กินแล้วช่วยอะไร มีประโยชน์อย่างไรบ้างถึงกับได้รับฉายาราชินีแห่งผักพื้นบ้าน
ทุกคนเคยได้ยินฉายา "ราชินีแห่งผักพื้นบ้าน" กันไหม ฉายานี้เป็นของ "ผักเหลียง" หรือ "ใบเหลียง" ผักแสนอร่อยที่เป็นของโปรดใครหลายๆคน ด้วยรสชาติอร่อยเอามาทำอาหารได้หลากหลายเมนู แต่รู้ไหมว่าฉายานี้ไม่ได้มาด้วยความอร่อยเพียงอย่างเดียว แต่ผักเหลียงมีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าที่หลายๆคนรู้
ประโยชน์ของผักเหลียง ราชินีแห่งผักพื้นบ้านภาคใต้
1. วิตามินเอสูง ดีต่อดวงตา วิตามินเอหรือเบต้าแคโรทีนในใบเหลียงมีมากกว่าผักบุ้งไทย 5-10 เท่า จึงจัดได้ว่าใบเหลียงเป็นแหล่งของวิตามินเอ และสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ มีประโยชน์ในด้านช่วยเสริมการเจริญเติบโตในเด็ก และผู้ที่มีปัญหาสายตา เช่น ปัญหาตาบอดกลางคืน หรือตาฝ้าฟางจากภาวะขาดวิตามินเอ
2. กระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย สารต้านอนุมูลอิสระในใบเหลียงมีส่วนช่วยกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ชื่อว่า ทีเฮลเปอร์ (T helper cell) ซึ่งมีบทบาทในการกระตุ้นและชี้นำการทำงานของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันอื่น ๆ ให้มีความสามารถในการต้านสิ่งแปลกปลอมและฆ่าเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกายได้ดีขึ้น ดังนั้นหากอยากมีภูมิต้านทานที่ดี อย่าลืมกินใบเหลียงบ่อย ๆ ล่ะ
3. บำรุงกระดูกและฟัน จะเห็นได้ว่าใบเหลียงมีทั้งแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน ทั้งยังมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตในเด็กได้อีกด้วย
4. ชะลอความแก่ บำรุงผิวพรรณ ทั้งน้ำ ไฟเบอร์ วิตามินเอ รวมไปถึงสารต้านอนุมูลอิสระ และสารพฤกษเคมีในใบเหลียง ล้วนเป็นสารสำคัญในการชะลอความเสื่อมของเซลล์ผิวพรรณ และยังช่วยเติมควมเปล่งปลั่งให้ผิว ป้องกันความเหี่ยวย่น รวมทั้งยังต้านความแก่ได้ดี
5. ป้องกันมะเร็ง อย่างที่รู้กันดีว่าสารต้านอนุมูลอิสระเป็นอาวุธสำคัญในการป้องกันมะเร็งร้าย และช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกายได้ ดังนั้นการกินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงเป็นประจำ ก็จะช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้อีกทางหนึ่ง และใบเหลียงก็จัดเป็นผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง แถมยังมีสารพฤกษเคมีในตัวเองอีกด้วย