หน้าร้อนนี้ระวัง อย.เตือน กินน้ำแข็ง-ไอศกรีมคลายร้อนต้องเลือกดีๆ
เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เตือน หน้าร้อนนี้กินน้ำแข็งหรือไอศกรีมดับร้อนต้องเลือกให้ดี
เข้าสู่หน้าร้อนเต็มตัวแล้วหลายๆคนที่ไม่ถูกกับความร้อนคงจะขยาดไม่น้อย โดยเฉพาะอุณหภูมิในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ค่าดัชนีความร้อนที่สูงเป็นพิเศษทำให้หลายๆคนต่างต้องหาวิธีคลายร้อน นอกจากหลับแดดอยู่ในห้องแอร์แล้วหลายๆคนก็เลือกที่จะกินน้ำเย็นหรือของหวานที่ใส่น้ำแข็งหรือไอศกรีมเพื่อดับร้อน ซึ่งทางคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกมาเตือนให้ระวังในการเลือกซื้อ
ทางคณะกรรมการอาหารและยา ได้ประกาศว่า เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ทำให้น้ำดื่ม น้ำแข็ง และไอศกรีม กลายเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของผู้บริโภค เพื่อช่วยดับกระหายและคลายร้อน
แต่เพื่อความปลอดภัยและสุขภาวะที่ดีของผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการกำกับดูแลและเฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เพราะหากขั้นตอนการผลิตและการเก็บรักษาที่ไม่ดี อาจเกิดการปนเปื้อนและการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์อย่างรวดเร็ว และอาจพบเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และโรคอุจจาระร่วง ซึ่ง อย. มีความห่วงใยอย่างยิ่ง จึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการเลือกซื้อน้ำดื่ม น้ำแข็ง และไอศกรีม ในช่วงหน้าร้อนเป็นพิเศษ
โดยการเลือกซื้อกรณีน้ำดื่ม ควรเลือกภาชนะบรรจุที่สะอาดและปิดสนิท ไม่รั่วซึมหรือมีรอยสกปรก ไม่มีร่องรอยการเปิดใช้ ลักษณะของน้ำที่บรรจุอยู่ต้องใสสะอาด ไม่มีตะกอน ไม่มีสี กลิ่น รสที่ผิดปกติ โดยร้านค้าที่จำหน่าย ต้องไม่วางน้ำดื่มตากแดดและไม่เก็บน้ำดื่มในที่ร้อน
กรณีน้ำแข็ง ควรสังเกตรายละเอียดบนฉลากให้ครบถ้วน และต้องมีข้อความว่า "น้ำแข็งใช้รับประทานได้" ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน โดยถุงที่ใช้บรรจุต้องสะอาด ปิดผนึกแน่นหนาไม่ฉีกขาด และน้ำแข็งต้องใสสะอาด ไม่มีคราบ สี หรือกลิ่นที่ผิดปกติ ไม่มีฝุ่นผงหรือสิ่งแปลกปลอมในก้อนน้ำแข็ง นอกจากนี้ ผู้บริโภคควรสังเกตสถานที่เก็บและภาชนะที่บรรจุน้ำแข็ง ซึ่งต้องถูกสุขลักษณะไม่มีการใส่น้ำแข็งปนกับอาหารประเภทอื่น
กรณีไอศกรีม ภาชนะบรรจุต้องสะอาดและปิดสนิท ไม่ฉีกขาด สังเกตได้จากการที่ไม่มีไอศกรีมรั่วซึมออกมา และตัวไอศกรีมต้องไม่มีสี กลิ่น รส ที่ผิดปกติ และไม่เหลวหรือมีลักษณะเหมือนเคยละลายมาแล้ว
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ขอให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากแสดงรายละเอียดครบถ้วน ชัดเจน เช่น ชื่อที่ตั้งสถานที่ผลิต เครื่องหมาย อย. พร้อมเลขสารบบอาหาร 13 หลัก วันเดือนปีที่ควรบริโภคก่อน หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่สะอาด ไม่ได้มาตรฐาน สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ Email: [email protected] ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ