เตือน พืช 3 ชนิดมีไซยาไนด์ ระวัง ก่อนกินปรุงสุกให้ดี
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เตือนพืช 3 ชนิดที่มีมีไซยาไนด์ในตัว ก่อนกินต้องปรุงให้สุกดีก่อน ไม่แนะนำให้กินดิบ
ก่อนหน้านี้สืบเนื่องจากคดีแอม ไซยาไนด์เป็นที่โด่งดังอย่างมากทำให้คนสนใจเรื่องของยาไซยาไนด์กัน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ จึงได้โพสต์ข้อความเอาไว้ ระบุว่า "หน่อไม้ดิบ-มันสำปะหลังดิบ มีสารพิษไซยาไนด์ … ควรทำให้สุกก่อนรับประทานครับ"
ช่วงนี้ พอคดี "แอม ไซยาไนด์" เป็นข่าวดังขึ้นมา ก็มีคนเป็นกังวลเกี่ยวกับเรื่องสารพิษไซยาไนด์ (cyanide) กันมากขึ้น และก็มีหลายสำนักข่าวได้ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับไซยาไนด์ ในเชิงสารเคมี กันไปเยอะแล้ว เลยจะไม่ขอเขียนละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนั้น แต่มีประเด็นจากบางเพจ ที่ออกมาโพสต์ว่า
"ก่อนกินต้องระวัง! รสขมของน้ำต้มหน่อไม้ คือ สารไซยาไนด์ ต้องเทน้ำแรกทิ้ง ต้มซ้ำอีก 30 นาที" อันนี้เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องต้องระวังขนาดนั้นเหรอ!?
คำตอบคือ ไม่ขนาดนั้นครับ! มันเป็นเรื่องจริง ที่เราไม่ควรรับประทานหน่อไม้ดิบ มันฝรั่งดิบ และมันสำปะหลังดิบ เพราะมันมีสารไซยาไนด์อยู่ตามธรรมชาติ และถ้ากินเข้าไปเป็นปริมาณมาก ไซยาไนด์จะไปจับกับเม็ดเลือดแดงของเรา ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือถึงขนาดเสียชีวิตได้ จึงควรนำไปทำให้สุกด้วยความร้อนเสียก่อน …. แต่มันไม่ต้องนานขนาดนั้น หรือทิ้งน้ำซ้ำ 2 น้ำแบบนั้นครับ และจะใช้วิธีการอบ ปิ้ง ย่าง ฯลฯ ก็ได้ ขอเพียงแค่ให้ความร้อนมันเพียงพอ
-ไซยาไนด์ (cyanide) เป็นสารพิษอันตราย จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 หากครอบครอง โดยมิได้รับอนุญาตมีโทษทั้งจำและปรับ
-ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง คือ โพแทสเซียมไซยาไนด์ (potassium cyanide) ที่มีลักษณะเป็นก้อนผลึก หรือผงสีขาว เมื่อเป็นของเหลวจะใสไม่มี หรือแก๊สที่ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน และเป็นพิษอย่างรุนแรงเมื่อเผาไหม้
-ไซยาไนด์ อาจทำให้ระคายเคืองเมื่อสูดดม หากรับในปริมาณที่น้อย ก็สามารถขับออกมาได้ทางปัสสาวะได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณมาก อาจเข้าไปจับตัวกับสารในเม็ดเลือดแดงแทนที่ออกซิเจน อาจทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น หายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองบวม ชัก และหมดสติ หรืออาจเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
-ไซยาไนด์ที่พบในพืช จะอยู่ในรูปของ ไกลโคไซด์ ที่เป็นพิษ (cyanogenic glycoside) ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีความเป็นพิษ ที่พบตาม ธรรมชาติในพืชบางชนิด อาทิ มันสำปะหลัง ข้าวชนิดต่างๆ เช่น มันสำปะหลัง สบู่ดำ หน่อไม้สด ถั่วลิมา อัลมอนด์ชนิดขม
-อาการที่ได้รับพิษจากไซยาไนด์นั้น ถ้าเกิดจากการสูดดมก๊าซไซยาไนด์ หรือรับประทานสารละลายของไซยาไนด์ จะมีอาการปรากฏให้เห็นในเวลาเป็นนาที หรือภายใน 1 ชั่วโมงเป็นอย่างช้าหลังได้รับสารพิษ/แต่ถ้าเป็นผบจากการกินมันสำปะหลังดิบ อาการจะเกิดขึ้นในเวลาหลายๆ ชั่วโมงหลังจากรับประทาน เนื่องจากสารไซยาไนด์ที่อยู่ในรูปของสาร linamarin ต้องถูกเอนไซม์ในลำไส้ย่อยเสียก่อน จึงจะปลดปล่อยตัวของไซยาไนด์ออกมา
-ไซยาไนด์ดูดซึมได้ในทางเดินอาหารอย่างรวดเร็ว การรับประทานผงถ่านกัมมันต์จึงไม่สามารถนำมารักษาได้ และไม่ต้องทำการล้างท้อง ไม่ควรกระตุ้นให้อาเจียนด้วย/แต่กรณีจากมันสำปะหลัง ผงถ่านอาจจะมีประโยชน์สามารถจับสารพวก linamarin ได้บ้าง
-แต่ถ้ามีการปรุงพืชพวกนี้ให้สุก ด้วยการผ่านความร้อน ไม่ว่าจะเป็นการต้ม อบ หรือ ทอด เผา อบแห้ง ก็สามารถบริโภคได้ตามปกติ
-ขณะที่ แป้งมันสำปะหลัง ก็ผ่านกระบวนการผลิตอย่าง การโม่หลังจากกระเทาะเปลือกแล้ว ทำให้ไซยาไนด์ให้มีปริมาณลดลง จนถึงระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อการบริโภค
มันสำปะหลัง
-ไม่แนะนำให้กินดิบ เพราะไซยาไนด์อยู่ในราก (หัวมันสำปะหลังที่กินกันนั้น จริงๆ คือส่วนรากของมัน) โดยสะสมอยู่ที่ผิวเปลือกของราก การปรุงไม่ถูกต้องจะมีพิษได้ ดังนั้น การนำมาเตรียมอาหาร ให้เอาผิวเปลือกออกก่อน และควรนำมาต้ม 30-40 นาที แล้วทิ้งน้ำที่ต้ม ถ้าเป็นใบ ให้ต้มมากกว่า 10 นาที หรือถ้าใบแก่ให้ต้มนานกว่านี้
หน่อไม้
-หลีกเลี่ยงการกินหน่อไม้ดิบหรือหน่อไม้ที่ยังปรุงไม่สุก ส่วนข้อแนะนำในต้มหน่อไม้ ไม่ว่าจะเป็นหน่อไม้ดอง หรือหน่อไม้ปี๊บ โดยเฉพาะหน่อไม้สด ควรต้มน้ำให้เดือดอย่างน้อย 10 นาที จะลดไซยาไนด์ได้ 90.5%