ตามรอยละครพรหมลิขิต เมื่อแม่หญิงพุดตานได้เดินทางไปเมืองสองแคว กับ ครอบครัวคุณหญิงการะเกด เพื่อหา คัมภีร์กฤษณะกาลี และอยากจะลองสัมผัสมนต์ขลังนี้อีกครั้ง เผื่อแม่หญิงพุดตานจะได้กลับมายังโลกปัจจุบัน รายละเอียดคงต้องไปติดตามในละครกันต่อ ว่าสุดท้ายแล้วแม่หญิงพุดตานจะได้กลับมายังโลกปัจจุบันหรือไม่ แต่วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จัก เมืองสองแคว หรือ พิษณุโลก ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า เมืองชัยนาท กับ พระพุทธชินราช สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองมีอายุกว่า 666 ปี
รู้หรือไม่ เมืองสองแคว ยังมีอีกชื่อหนึ่งที่น้อยคนจะรู้ “สองแคว” เป็นชื่อที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปว่าเป็นชื่อดั้งเดิมของ “เมืองพิษณุโลก” เพราะมีแม่น้ำสองสายไหลผ่านเมือง คือ “แม่น้ำน่าน” และ “แม่น้ำแควน้อย” โดย แม่น้ำน่าน ไหลผ่านเข้าในตัวเมือง (จวบจนปัจจุบันก็ยังไหลในเส้นทางนี้อยู่) ส่วน แม่น้ำแควน้อย เปลี่ยนทิศในการไหลผ่าน จากเดิม ไหลลงใต้ขนานกับแม่น้ำน่าน ผ่าน เมืองสองแคว หรือ เมืองพิษณุโลก และไหลลงแม่น้ำน่านใต้ ไปที่ท่าฬ่อ จ. พิจิตร ปัจจุบันได้ไหลลงจากเทือกเขาทางทิศตะวันออกลงแม่น้ำน่านเหนือตัวเมือง ขึ้นไปประมาณ 20 กิโลเมตร
ชื่อ “สองแคว” ถือเป็นชื่อที่เก่าที่สุด ตั้งแต่ก่อตั้งบ้านเมืองขึ้น ในแคว้นสุโขทัย ทั้งยังเป็นที่รู้จักของคนต่างถิ่น ไม่ว่าจะเป็นทิศเหนือ หรือใต้ เรียกขานกันมายาวนาน และมีชื่อเต็มปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัย บางหลักว่า “สรลวงสองแคว”
เอกสารเก่าที่สุดที่ปรากฏชื่อ “เมืองพิษณุโลก” คือหนังสือลิลิตยวนพ่าย แต่งขึ้นหลัง พ.ศ. 2031 เป็นปีสวรรคตของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ชื่อพิษณุโลกที่ปรากฏในลิลิตยวนพ่ายนั้นเป็นชื่อที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกับการเริ่มตั้งชื่อนี้จริงๆ มากที่สุด ดังตัวอย่างตอนที่มีการเอ่ยชื่อพิษณุโลกที่ปรากฏในคำโคลงบทที่ว่า
กว่าจะมาชื่อพิษณุโลก ชื่อเมือง “เมืองพิษณุโลก” ที่ปรากฏอยู่ในโคลงบทนี้นั้น อยู่ในตอนที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงโปรดให้สร้างกำแพงเมือง แต่กำแพงเมืองจะสร้างขึ้นเมื่อปีใดไม่มีเอการกล่าวถึง แม้พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิตจะเป็นเอกสารฉบับเดียวที่มีการกล่าวเรื่องสร้างกำแพงเมือง แต่ก็กล่าวเพียงว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นผู้ให้สร้างขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ระบุปีที่สร้างแน่นอน
นอกจากนี้ “เมืองสองแคว” ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองชัยนาท” เป็นชื่อที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักว่าเคยถูกนำมาเรียกชื่อเมืองนี้ หนังสือ “ชินกาลมาลีปกรณ์” แต่งโดยพระรัตนปัญญาเถระแห่งล้านนา เมื่อ พ.ศ. 2060 ตอนหนึ่งกล่าวว่า “ ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทยแห่งกรุงสุโขทัย ได้เสีย เมืองชัยนาท ให้แก่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) แต่ต่อมาขอเมืองคืนได้ พระมหาธรรมราชาลิไทยต้องเสด็จไปประทับอยู่ที่ เมืองชัยนาท…”
หนังสืออีกเล่มหนึ่งคือ ลิลิตยวนพ่าย แต่งขึ้น พ.ศ. 2031 ตอนหนึ่งกล่าวถึง “พระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนาว่า ได้ยกทัพลงมาเอาเมืองชัยนาท” พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาทุกฉบับ กล่าวถึงสมเด็จพระนครินทราชาธิราช ผู้เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ. 1952-1967 ว่า “ได้ตั้งโอรส 3 พระองค์ คือ เจ้าอ้ายพระยา ให้ครองเมืองสุพรรณบุรี, เจ้ายี่พระยา ครองเมืองสรรค์ และเจ้าสามพระยา ให้ครองเมืองชัยนาท ต่อมา เมื่อพระองค์ได้สวรรคตลง เจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยาได้แย่งราชสมบัติต่อสู้กัน จนถึงกับสิ้นพระชนม์ลงทั้งคู่ ราชสมบัติจึงตกแก่เจ้าสามพระยาขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2”
ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ สุโขทัย กล่าวว่า เจ้าสามพระยานั้นมีพระมารดาเป็นเชื้อพระวงศ์ของสุโขทัยสมัยที่พระองค์ยังทรงเยาว์วัยอยู่ เคยเสด็จมาทำบุญที่เมืองสุโขทัยพร้อมกับพระมารดาและน้า เวลาที่เสด็จมาทำบุญที่สุโขทัยนั้นเป็นเวลาที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธากล่าวว่าทรงครองอยู่ที่เมืองชัยนาทในฐานะลูกหลวง การที่เจ้าสามพระยาทรงมีเชื้อสายทางราชวงศ์สุโขทัยด้วย จึงสมเหตุผลว่า ทรงได้ครองเมืองชัยนาท ซึ่งคือเมืองที่พิษณุโลกหรือสองแควเดิมนั่นเอง
แต่ชื่อเมือง “ชัยนาท” คงเป็นที่ถูกนำมาเรียกเมืองนี้ในระยะสั้น ๆ คือ เริ่มเรียกเมื่อเจ้าสามพระยาได้มาครองในฐานะเมืองลูกหลวงเป็นต้นมาเท่านั้น พอถึงสมัยรัชกาลต่อมาคือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ก็มีชื่อใหม่มาให้เรียกอีก ชื่อ “เมืองชัยนาท” จึงไม่ค่อยมีใครรู้จักว่าเคยใช้เป็นชื่อเรียกเมืองนี้
ขอบคุณข้อมูลจาก : เจียจันทร์พงษ์, พิเศษ. ศาสนาและการเมืองในประวัติศสตร์ สุโขทัย-อยุธยา , วิกิพีเดีย , และโบราณนานมา ภาพจากละครเรื่องพรหมลิขิต ทางช่อง 3 และ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก