สมเด็จพระอัครมเหสี ของ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง

06 พฤศจิกายน 2566
420

ราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองกรุงศรีอยุธยา ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 จนต้องย้ายเมืองหลวงไปตั้งกรุงใหม่ที่ กรุงธนฯ, กรุงเทพฯ

ตามติดกระแสละครดัง เรื่อง พรหมลิขิต เมื่อพระเจ้าท้ายสระ หรือ ขุนหลวงท้ายสระ ขึ้นปกครองอาณาจักรอยุธยาเป็นพระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ บ้านพลูหลวง ทรงครองราชย์ 24 ปี วันนี้ทีมปาฏิหาริย์ ช่วง เจนจิราหามาเล่า ขอหยิบยก สมเด็จพระอัครมเหสีของราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีพระนามดังนี้ 

สมเด็จพระอัครมเหสี ของ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง

สมเด็จพระอัครมเหสีของราชวงศ์บ้านพลูหลวง

1. กรมพระเทพามาตย์

มีพระนามเดิมกันว่า เป็นบาทบริจาริกาข้าหลวงเดิม ในสมเด็จพระเพทราชา ตั้งแต่ก่อนครองราชย์ มีพระธิดาคนหนึ่งชื่อนิ่ม เมื่อพระเพทราชารับนางกุสาวดีมาเป็นภรรยาและให้กำเนิดบุตรชาย นางกันได้เลี้ยงดูพระราชกุมารนั้น (ภายหลังพระกุมารได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี) เมื่อพระเพทราชาครองราชย์ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2231 จึงทรงตั้งเป็นพระอัครมเหสีกลาง

2. กรมหลวงโยธาเทพ

ภายหลังออกพระนามว่า สมเด็จพระรูปเจ้า มีพระนามเดิมว่า พระสุดาเทวี (คำให้การชาวกรุงเก่า) หรือ เจ้าฟ้าสุดาวดี (พ.ศ. 2199—2278) เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งประสูติแต่พระมเหสีฝ่ายขวา พระองค์มีบทบาทด้านการค้าค่อนข้างสูงในรัชสมัยของพระราชบิดา และได้รับพระราชทานให้ดำรงพระอิสริยยศเป็น "กรมหลวงโยธาเทพ" และคงมีพระอำนาจสูงมาก โดยจดหมายเหตุลาลูแบร์กล่าวว่าพระองค์ "...ทรงพระเกียรติยศและเสด็จประทับ ณ พระมนทิราลัยเยี่ยงพระอัครมเหสี..."และบางครั้งชาวตะวันตกก็เรียกแทนพระองค์ว่าเป็น "ราชินี" พระองค์มีบทบาทอย่างสูงเนื่องจากทรงมีส่วนริเริ่มการปฏิวัติผลัดแผ่นดิน ทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับแพทย์หลวงชาวฝรั่งเศสที่ชื่อดาเนียล บรูชบูรด์ ผู้ที่ถูกกล่าวโทษว่าวางยาลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์ แต่ท้ายที่สุดพระองค์ก็ตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์นี้เสียเองทั้งที่ไม่เต็มพระทัยนักด้วยการเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายของสมเด็จพระเพทราชา แต่หลังสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา พระองค์และกรมหลวงโยธาทิพได้ถวายบังคมออกจากพระบรมมหาราชวังมาประทับและดำรงพระชนม์อย่างสงบด้วยการผนวชเป็นรูปชี แต่นั้นเป็นต้นมาชาววังได้ออกพระนามว่า "สมเด็จพระรูปเจ้า" และดำรงพระชนม์เรื่อยมาจนกระทั่งสวรรคตในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อปี พ.ศ. 2278

สมเด็จพระอัครมเหสี ของ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง

3. กรมหลวงโยธาทิพ

มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าศรีสุวรรณ บ้างออกพระนามว่า พระราชกัลยาณี (พ.ศ. 2181–2258) เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าปราสาททองและเป็นพระราชขนิษฐาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายหลังได้เป็นที่พระอัครมเหสีฝ่ายขวาในสมเด็จพระเพทราชา ประสูติการพระราชโอรสพระองค์หนึ่งพระนามเจ้าพระขวัญ

4. สมเด็จพระพันวษา หรือ พระราชชนนีพันปีหลวง

พระอัครมเหสีในสมเด็จพระเจ้าเสือ พระราชชนนีพันปีหลวงของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ และ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมเด็จพระพันวษา พระอัครมเหสีของสมเด็จพระเจ้าเสือ และพระราชมารดากษัตริย์อยุธยาถึงสองพระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ และ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ในพงศาวดารไม่ระบุว่าพระองค์เป็นธิดาของผู้ใดหรือมีถิ่นฐานมาจากที่ใด คำว่าสมเด็จพระพันวษาเป็นเพียงตำแหน่งไม่ใช่ชื่อบุคคล แต่มีระบุว่า พระองค์เป็นภรรยาเดิมตั้งแต่พระเจ้าเสือเป็นขุนนางนามว่า ออกหลวงสรศักดิ์

5. กรมหลวงราชานุรักษ์

มีพระนามเดิมว่าเจ้าฟ้าทองสุก (คำให้การชาวกรุงเก่า) หรือเจ้าท้าวทองสุก (คำให้การขุนหลวงหาวัด) ไม่ปรากฏข้อมูลว่าผู้ใดเป็นพระชนกชนนี มีเพียง คำให้การชาวกรุงเก่า ที่ระบุเพียงว่าพระองค์เป็นพระอัครชายาเดิมในเจ้าฟ้าสุรินทรกุมารตั้งแต่ยังเป็นพระมหาอุปราช เมื่อเจ้าฟ้าสุรินทรกุมารเสวยราชย์ทรงพระนามว่าสมเด็จพระภูมินทราธิราชจึงตั้งเจ้าฟ้าทองสุกขึ้นเป็นกรมหลวงราชานุรักษ์ พระอัครมเหสี ใน คำให้การชาวกรุงเก่า และ คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุตรงกันว่าพระองค์มีพระราชโอรส-ธิดา 6 พระองค์ ได้แก่ 

  1. เจ้าฟ้าหญิงเทพ
  2. เจ้าฟ้าหญิงปทุมมา (ประทุม)
  3. เจ้าฟ้าชายนรินทร์ (นเรนทร์)
  4. เจ้าฟ้าชายอภัย
  5. เจ้าฟ้าชายปรเมศ (ปรเมศร์)
  6. เจ้าฟ้าชาย (สิ้นพระชนม์ตั่งแต่เยาว์วัย)

6. กรมหลวงอภัยนุชิต หรือ พระพันวัสสาใหญ่

เป็นพระอัครมเหสีเอกในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (หรือเจ้าฟ้ากุ้ง)

7. กรมพระเทพามาตุ

มีพระอิสริยยศเดิมว่า กรมหลวงพิพิธมนตรี หรือ กรมหลวงพิจิตรมนตรี เป็นพระอัครมเหสีน้อย ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และเป็นสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวงในสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรและสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์

8. เจ้าฟ้าสังวาลย์ หรือ อินทสุชาเทวี

บางแห่งออกพระนามว่าเจ้าฟ้านิ่ม หรือนวน เป็นพระมเหสีฝ่ายซ้าย ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และเป็นพระชนนีของเจ้าฟ้ากุณฑล และเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้พระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง ดาหลัง และ อิเหนา
ในคำให้การของชาวกรุงเก่าบอกว่า เจ้าฟ้าสังวาลย์ทรงคบชู้กับเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ จึงต้องพระอาญาเฆี่ยนจนกระทั่งพิราลัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงให้นำพระศพของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศและเจ้าฟ้าสังวาลย์ไปฝัง ณ วัดไชยวัฒนาราม

9. กรมขุนวิมลภักดี หรือ กรมขุนวิมลพัตร หรือ กรมขุนวิมวัต

เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และเป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร และสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์ถูกกวาดต้อนไปประทับ ณ พระราชวังหลวงอังวะจนกระทั่งสวรรคต

สมเด็จพระอัครมเหสี ของ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง

ขอบคุณ : วิกิพีเดีย ภาพจาก ละครพรหมลิขิต , บุพเพสันนิวาส ,  ศรีอโยธยา , ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา