หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง วันนี้รายการ ปาฏิหาริย์ ช่วง เจนจิราหามาเล่า มีเกร็ดเล็กๆ มาฝากทุกคน หลังจากดูละครเรื่อง พรหมลิขิต ทำให้นึกถึงสถานที่ที่แม่พุดตาล พูดถึง วัดพนัญเชิง มีจุดเด่นสำคัญ คือ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อซำปอกง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา กับ ตำนานก่อนเสียกรุงศรีในสมัยนั้น เรื่องราวจะเป็นอย่างไรไปติดตามรับฟังกันได้เลยคะ
หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง กับ ตำนานก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา
พระพุทธไตรรัตนนายก ประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร วัดพนัญเชิง ริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก ตรงข้ามกับมุมตะวันออกเฉียงใต้ ของเกาะเมืองอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียกกันเป็นสามัญว่า หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป มาแต่โบราณกาล เดิมเรียกว่า "พระพุทธเจ้า เจ้าพแนงเชิง" ชาวไทยเชื้อสายจีน นิยมเรียกว่า "ซำปอกง" แปลว่า พระรัตนตรัย พุทธศาสนิกชนทั่วไป นิยมเรียกว่า "หลวงพ่อโต"
หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้างประมาณ 14.20 เมตร สูง 19.20 เมตร ลักษณะของพระพุทธรูปจัดเป็นแบบอู่ทองรุ่นที่ 2 อันมีลักษณะพักตร์สี่เหลี่ยม เคร่งขรึม ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวว่า พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1867 หรือก่อนที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี 26 ปี แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง ครั้นสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแล้ว พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาได้บูรณะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีมาโดยตลอด กล่าวกันว่าเมื่อคราวจะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่านั้น ได้ปรากฏมีน้ำพระเนตรไหลออกมาจากพระเนตรทั้งสองข้างจรดพระนาภี เป็นที่น่าอัศจรรย์
หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง กับ ตำนานก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา
หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง เป็นที่เคารพสักการะของผู้คน ตลอดจนถึงพระมหากษัตริย์มาตลอดทุกยุคทุกสมัยแม้ในกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์หลวงพ่อโตทั้งองค์ แล้วลงรักปิดทองใหม่ พระราชทานนามว่า “พระพุทธไตรรันตนนายก”
เบื้องหน้าของพระพุทธไตรรัตนนายกนั้น ประดับด้วยพัดยศแบบพัดแฉกลายทอง รูปกลีบพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นพัดยศที่งดงามด้วยเชิงช่างที่หาชมได้ยาก สันนิษฐานว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สร้างถวายเมื่อ พ.ศ. 2397
ในยุครัตนโกสินทร์ ได้มีเหตุเภทภัยเกิดแก่หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิงถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ไฟได้ไหม้ผ้าห่มที่ห่มองค์พระ ทำให้องค์พระชำรุดร้าวรานหลายแห่ง รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้ซ่อมแซมกลับคืนดังเดิม และเสด็จพระราชดำเนินทรงปิดทองแล้วมีการสมโภช ต่อมาในรัชกาลที่ 7 องค์พระส่วนพระหนุ (คาง) พังทลายลงมาจนถึงพระปรางค์ทั้งสองข้าง ได้ซ่อมแซมจนเรียบร้อยภายในเวลา 1 ปี ครั้งนั้นได้เปลี่ยนพระอุณาโลมจากทองแดงเป็นทองคำด้วย ในรัชกาลที่ 9 มีการปฏิสังขรณ์ลงรักปิดทองใหม่ทั้งองค์แล้ว 2 ครั้ง คือในปี 2491 กับ ปี 2534-2536
หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง กับ ตำนานก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา
ขอขอบคุณ : ข้อมูลจาก เว็บไซต์ วัดพนัญเชิงวรวิหาร