ประวัติ พระเจ้าท้ายสระ ผู้มีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ไทย

02 พฤศจิกายน 2566
973

ประวัติ พระเจ้าท้ายสระ หรือ ขุนหลวงท้ายสระ บุคคลสำคัญ ผู้มีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ไทย และเป็นพระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ บ้านพลูหลวง ของอาณาจักรอยุธยา

ประวัติ พระเจ้าท้ายสระ จากบุพเพสันนิวาส ถึง "พรหมลิขิต" สู่การผลัดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ เข้าสู่ยุค ขุนหลวงท้ายสระ ผู้มีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ไทยและเป็นราชวงศ์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ บ้านพลูหลวง ของอาณาจักรอยุธยา ทรงครองราชย์ 24 ปี วันนี้ปาฏิหาริย์ ช่วง เจนจิราหามาเล่า ได้รวบรวมเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจไว้ดังนี้ 

ประวัติ พระเจ้าท้ายสระ ผู้มีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ไทย

ตามรอยละครดัง อย่าง พรหมลิขิต ละครภาคต่อจากเรื่อง บุพเพสันนิวาส ที่ทำให้กระแสคนไทยติดละครกลับมาอีกครั้ง จนเกิดการค้นหา ประวัติ พระเจ้าท้ายสระ และแน่นอนว่านอกจากเรื่องราวในละครจะมีความสนุกสนาน น่าติดตามแล้ว ยังมีตัวละครสำคัญและมีตัวตนอยู่จริงจนอยากรื้อฟื้นความรู้ทางประวัติศาสตร์ช่วงสมัยกรุงศรีอีกครั้ง นั่นคือ สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 หรือ พระเจ้าภูมินทราชา หรือ พระเจ้าบรรยงก์รัตนาสน์ รับบทโดย เกรท-วรินทร ปัญหกาญจน์ 

พระราชประวัติ สมเด็จพระสรรเพชญ์ มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าเพชร เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 กับพระอัครมเหสี พระนามว่า สมเด็จพระพันวษา มีพระอนุชาและพระกนิษฐาร่วมพระมารดา 2 พระองค์ คือ 

  1. เจ้าฟ้าพร
  2. เจ้าฟ้าหญิงไม่ทราบพระนาม

พระองค์ ประสูติตั้งแต่พระราชบิดา(พระเจ้าเสือ) เป็นขุนนางในตำแหน่ง ออกหลวงสรศักดิ์ ในสมัย สมเด็จพระนารายณ์ หลังจากพระอัยกา(พระเพทราชา) ทรงครองราชย์และแต่งตั้ง พระเจ้าเสือ เป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล(วังหน้า) ทำให้สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระได้เป็นเชื้อพระวงศ์ และออกพระนามว่า สุรินทกุมาร

เมื่อพระราชบิดา สวรรคตในปี พ.ศ. 2251 จึงขึ้นครองราชย์ เฉลิมพระนามว่า พระเจ้าภูมินทราชา แต่จารึกชะลอพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกข์ ออกพระนามว่า พระบาทพระศรีสรรเพชญสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว แต่ประชาชนมักออกพระนามว่า พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ต่อมาทรงสถาปนาพระบัณฑูรน้อย เจ้าฟ้าพร พระราชอนุชาเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล 

ประวัติ พระเจ้าท้ายสระ ผู้มีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ไทย

พระนาม สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ มาจากนาม พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ซึ่งพระองค์ใช้เป็นประทับอันอยู่ข้างสระน้ำท้ายพระราชวัง ประชาชนจึงเรียกพระนามของท่าน ดังนี้ 

  • สมเด็จพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์
  • สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9
  • สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
  • สมเด็จพระภูมินทราธิราช
  • ขุนหลวงทรงปลา

สำหรับ พระราชโอรส-ธิดา ของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ มีพระราชโอรสธิดารวมกัน 9 พระองค์ เป็นพระราชโอรส 6 พระองค์ เป็นพระราชธิดา 3 พระองค์ ดังนี้

กรมหลวงราชานุรักษ์ เป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 มีพระโอรสธิดา 6 พระองค์ คือ

  1. เจ้าฟ้าหญิงเทพ
  2. เจ้าฟ้าหญิงประทุม
  3. เจ้าฟ้านเรนทร กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์
  4. เจ้าฟ้าอภัย
  5. เจ้าฟ้าชายปรเมศร์
  6. เจ้าฟ้าชายทับ

พระสนม มีพระโอรสธิดา 3 พระองค์ คือ

  1. พระองค์เจ้าชายเสฏฐา
  2. พระองค์เจ้าชายปริก
  3. พระองค์เจ้าหญิงสมบุญคง

เกร็ดที่น่าสนใจ

พระองค์โปรดเสวยปลาตะเพียนมาก โดยออกพระราชกำหนดห้ามราษฎรจับ หรือ รับประทานปลาตะเพียน หากผู้ใดฝ่าฝืน มีบทลงโทษคือปรับเป็นเงิน 5 ตำลึง หรือ 20 บาท พระราชทานท้องพระโรงแก่ สมเด็จพระสังฆราชแตงโม (ทอง) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระองค์โดยล่องเรือจากอยุธยาไปเพชรบุรีแล้วไปสร้างที่วัดใหญ่สุวรรณาราม (วัดสุวรรณาราม บ้างก็เรียกวัดใหญ่) จึงทำให้คงเหลือพระราชวัง ท้องพระโรงที่แสดงถึงศิลปกรรมของอยุธยาที่เหลือรอดจากการเผาของพม่าเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 อยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี

 

สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2275 รวมระยะเวลาครองราชย์ 24 ปี ในขณะที่สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 ทรงพระประชวรหนักนั้น พระองค์ตัดสินพระทัยทรงมอบราชสมบัติให้แก่ เจ้าฟ้าอภัย แต่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่ทรงยินยอม จึงเกิดเป็นสงครามแย่งชิงราชบัลลังก์ ที่สุดกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นฝ่ายชนะ ทรงสำเร็จโทษเจ้าฟ้าอภัย แล้วจึงครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ประวัติ พระเจ้าท้ายสระ ผู้มีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ไทย

ขอบคุณข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย และ ภาพจากละครเรื่อง พรหมลิขิต , อยุธยา-Ayutthaya Station