DITP แนะแนวทางเริ่มต้นธุรกิจส่งออกต้องเตรียมตัวอย่างไร

12 กุมภาพันธ์ 2567
11

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แนะแนวทางเริ่มต้นธุรกิจส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีแนวทางที่จะช่วยเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทย ที่มีความสนใจในการเริ่มต้นธุรกิจส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ดังต่อไปนี้
ในการเริ่มต้นธุรกิจส่งออก ท่านจะต้องเตรียมความพร้อมของตนเอง ไม่ว่าท่านจะเป็นบุคคลธรรมดา (ส่งออกในนามบุคคล) หรือ นิติบุคคล (ส่งออกในนามบริษัท) ทั้งนี้กรมแนะนำให้ท่านจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ก่อนเริ่มต้นธุรกิจส่งออก เนื่องจากการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศในนามบริษัทจะได้รับความเชื่อถือจากคู่ค้าในต่างประเทศมากกว่า อีกทั้งยังสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากความตกลง FTA ต่างๆ รวมถึงการเสียภาษีรายได้ในอัตราที่ต่ำกว่าบุคคลธรรมดา (จดทะเบียนผู้เสียภาษี)

เพื่อปูพื้นฐานและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวการทำการค้าระหว่างประเทศ กรมมีหลักสูตร “ความรู้เบื้องต้นในการประกอบธุรกิจส่งออก” และหลักสูตรเสริมศักยภาพอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ที่จะช่วยติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการไทย จัดโดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่
รู้จุดแข็งและจุดขายของสินค้า/บริการส่งออกของท่าน
หากท่านต้องการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า และ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าด้วยการสร้างแบรนด์ พัฒนาดีไซน์ ขอรับตราสัญลักษณ์ นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ ท่านสามารถขอรับคำปรึกษาจากสำนักสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า นอกจากนี้ท่านยังสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองในฐานะผู้ส่งออกกับสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ ซึ่งมีหลักสูตรการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกที่หลากหลาย

DITP แนะแนวทางเริ่มต้นธุรกิจส่งออกต้องเตรียมตัวอย่างไร


 

 

 

 

ค้นหาโอกาสส่งออก
1) ศึกษาแนวโน้มความต้องการของสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ พฤติกรรมผู้บริโภค สภาพการแข่งขัน ได้จากรายงานแนวโน้มความต้องการตลาด/โอกาสทางการค้า จากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 58 แห่งทั่วโลก
2) วิเคราะห์มูลค่าการส่งออกสินค้าและตลาดส่งออกสำคัญจากฐานข้อมูลสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย

หาผู้ซื้อ/ผู้นำเข้า ในตลาดเป้าหมาย
ในการหาผู้ซื้อ/ผู้นำเข้า ท่านอาจเริ่มต้นทำความเข้าใจโครงสร้างและช่องทางการกระจายสินค้าในตลาด เป้าหมาย ซึ่งอาจมีความแตกต่างจากตลาดในประเทศไทย โดยศึกษาจากรายงานตลาดเชิงลึกของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ 58 แห่งทั่วโลก นอกจากนี้ กรมแนะนำให้ท่านเข้าร่วมกิจกรรมขยายตลาดต่างประเทศ อาทิ งานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศ งานแสดงสินค้าในต่างประเทศ คณะผู้แทนการค้า กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) หรือเดินทางไปสำรวจตลาดด้วยตนเอง
ศึกษากฎระเบียบด้านการค้าระหว่างประเทศ

ก่อนดำเนินการส่งออก ผู้ประกอบการควรศึกษาขั้นตอนการขอใบอนุญาต/การขึ้นทะเบียน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าที่มีมาตรการการส่งออก (กรมการค้าต่างประเทศ) หรือมีมาตรฐานการส่งออก อาทิ สินค้าเกษตร ประมง และปศุสัตว์
ศึกษาขั้นตอนการส่งออกรายสินค้า ได้ที่ ศูนย์บริการส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ (OSEC) หรือ สำหรับประเทศที่ไทยมีความตกลง FTA สามารถค้นหาอัตราภาษีและสิทธิประโยชน์ได้จาก กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือ เว็บไซต์ของหน่วยงานศุลกากรของประเทศปลายทาง เช่น สหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา

DITP แนะแนวทางเริ่มต้นธุรกิจส่งออกต้องเตรียมตัวอย่างไร

 

 

 

รู้จักเงื่อนไขการส่งมอบสินค้า และวิธีชำระเงิน
ในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ท่านควรตกลงกับคู่ค้าให้ชัดเจน ในเรื่อง

(1) เงื่อนไขการส่งมอบสินค้า (Incoterms) อาทิ FOB CIF C&F
(2) เงื่อนไขในการชำระเงิน ซึ่งกรมแนะนำให้ดำเนินการเปิด L/C กรณีทำการค้ากับคู่ค้ารายใหม่ หากกำหนดเงื่อนไขเป็นการโอนเงิน (T/T) จะต้องมั่นใจว่าได้รับชำระค่าสินค้าตามเงื่อนไขก่อนส่งมอบสินค้า
ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันข้อพิพาททางการค้า กรมมีข้อแนะนำให้แก่ผู้ประกอบการ ดังนี้
(1) ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อ/ผู้นำเข้า ได้ที่ ระบบบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนและข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ (DITP CARE)
(2) ควรจัดทำเอกสาร/สัญญาซื้อขายที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือขอให้ผู้นำเข้าจัดทำใบสั่งซื้อ (Purchasing Order) ที่มีการลงนามและตราประทับของบริษัท โดยระบุรายละเอียดสินค้า ราคา ปริมาณ ค่าใช้จ่ายการขนส่งตามเงื่อนไขการส่งมอบสินค้า และเงื่อนไขการชำระเงิน ฯลฯ
สนใจเข้ารับการฝึกอบรม ติดต่อ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่

หาผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และดำเนินพิธีการศุลกากร
สำหรับผู้ส่งออกมือใหม่หรือผู้ส่งออกรายย่อย ที่ต้องการบริการและการอำนวยความสะดวกจากผู้ให้บริการมืออาชีพในด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงการจัดเตรียมเอกสารส่งออกและการดำเนินพิธีการศุลกากร สามารถค้นหารายชื่อผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ที่เป็นสมาชิกกรมได้จาก ศูนย์ให้บริการโลจิสติกส์เพื่อการค้าระหว่างประเทศ สำหรับบัตรประจำตัวผู้ส่งออก สามารถติดต่อขอรับได้จากกรมการค้าต่างประเทศ และ กรมศุลกากร

นอกจากที่กรมจะช่วยสนับสนุนท่านในด้านข้อมูลและองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศแล้ว หากท่านร่วม เป็นสมาชิกกรม ท่านจะได้รับสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนด้านการตลาด อาทิ การพาเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในต่างประเทศ การจับคู่ธุรกิจ การนำเสนอสินค้าผ่านแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ (Thaitrade.com) รวมไปถึงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่กำหนด ภายใต้โครงการ SMEs Pro-active อีกทั้งยังมีบริการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว ทั้งทาง Zoom Meeting และ สายด่วน 1169

DITP แนะแนวทางเริ่มต้นธุรกิจส่งออกต้องเตรียมตัวอย่างไร

เรียบเรียงโดย ชาคริตส์ คงหาญ