ทำความรู้จักสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ไร้พิษสง "ด้วงไทรโลไบต์"
ด้วงไทรโลไบต์ (Trilobite beetle) เจ้าตัวประหลาด ดูคล้ายตะขาบตัวนี้ เป็นด้วงชนิดหนึ่ง ไม่มีพิษ มีลักษณะและพฤติกรรมเช่นเดียวกับหิ่งห้อยช้าง
ด้วงไทรโลไบต์ (Trilobite beetle) เจ้าตัวประหลาด ดูคล้ายตะขาบตัวนี้ เป็นด้วงชนิดหนึ่ง ไม่มีพิษ มีลักษณะและพฤติกรรมเช่นเดียวกับหิ่งห้อยช้าง ด้วงไทรโลไบต์กับหิ่งห้อยช้าง ต่างกันที่หิ่งห้อยช้างสามารถเปล่งแสงได้บริเวณปล้องสุดท้ายของลำตัว แต่ด้วงไทรโลไบต์จะไม่สามารถเปล่งแสงได้เหมือนกับหิ่งห้อยช้าง จึงต้องอธิบายโดยการจำแนกวงศ์ทางวิทยาศาสตร์ให้เข้าใจง่ายขึ้น เนื่องจากยังไม่มีเนื้อหาที่ได้รับการรับรองเป็นภาษาไทย
ด้วงไทรโลไบต์จัดอยู่ในอันดับ Coleoptera ด้วงแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง ในวงศ์ "Duliticola" ซึ่งยังมีวงศ์ย่อยและวงศ์ใกล้เคียงอีกมาก ตั้งตามสถานที่พบหรือสีและลวดลายที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะพบในป่าฝนเขตร้อนโดยเฉพาะในประเทศอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลำตัวมักมีสีดำ หรือน้ำตาลเข้ม มีลายหรือจุดสีส้มหรือดำเงา ส่วนหิ่งห้อยช้างจัดอยู่ในวงศ์ด้วงที่เปล่งแสงได้ วงศ์ Lampyridae ในอันดับ Coleoptera อันดับเดียวกับด้วงไทรโลไบต์
ที่มาของชื่อด้วงไทรโลไบต์ เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายคลึงกับซากดึกดำบรรพ์ไทรโลไบต์ สันนิษฐานว่าอาจสืบทอดเชื้อสายมาจากไทรโลไบต์ ซึ่งเคยรุ่งเรืองเป็นจ้าวแห่งท้องทะเลเมื่อประมาณ 480 - 500 ล้านปีก่อน และได้สูญพันธุ์ไปกว่า 250 ล้านปีมาแล้ว แต่ทำไมด้วงไทรโลไบต์จึงมีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายคลึงกับซากดึกดำบรรพ์ไทรโลไบต์ ยังต้องศึกษากันต่อไป
ด้วงไทรโลไบต์ มีชื่อเรียกภาษาไทยอย่างไม่เป็นทางการว่า "หิ่งห้อยช้างเทียม" ด้วยสาเหตุที่ด้วงไทรโลไบต์ไม่สามารถเปล่งแสงได้เหมือนหิ่งห้อยช้างนั่นเอง ด้วงไทรโลไบต์ เพศผู้และเพศเมียมีรูปร่างที่ต่างกันสิ้นเชิง ผิดแปลกจากแมลงส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับหิ่งห้อยช้าง ตัวผู้มีขนาดเล็กมากมีลำตัวยาวประมาณ 8 - 9 มิลลิเมตร มีลักษณะเหมือนกับหิ่งห้อยช้างตัวผู้ มีปีกบินได้ ไม่สามารถเรืองแสงเหมือนหิ่งห้อย ตัวเมียมีลักษณะเหมือนหนอน ลำตัวครึ่งท่อนบนแบ่งเป็น 3 ปล้อง แต่ละปล้องมี 2 ขา รวม 6 ขา ส่วนลำตัวครึ่งท่อนล่างมี 9 ปล้อง แต่ละปล้องจะมีปุ่มเล็ก ๆ คล้ายขาหนอน เวลาเดินจะกึ่งเดินกึ่งคืบคล้ายหนอน มีลำตัวค่อนข้างใหญ่ยาว 40 – 80 มิลลิเมตร มักหากินตามพื้นที่มีใบไม้ทับถม เมื่อถูกจู่โจมสามารถม้วนตัวใช้กระดองแข็งเป็นเกาะป้องกันตัวได้
ที่มา : อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ จ.พังงา
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช)