สลด "ช้างพังศรีเวย" วัย 65 ปี จากไปอย่างสงบ หลังรักษาอาการป่วยมา 20 วัน
สลด รพ.มูลนิธิเพื่อนช้าง เผย "ช้างพังศรีเวย" วัย 65 ปี จากไปอย่างสงบ หลังเข้ารักษาตัวด้วยอาการท้องผูกทรมานมา 20 วัน
เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 4 ส.ค. 66 เฟซบุ๊กเพจ Soraida Salwala ของ น.ส.โซไรดา ซาลวาลา ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนช้าง เปิดเผยเรื่องราวการช่วยเหลือ "พังสีเวย" ช้างวัย 65 ปี ที่เข้ามารักษาตัวที่มูลนิธิเพื่อนช้างได้ 20 วัน ด้วยอาการท้องผูก ก่อนจะจากไปอย่างสงบ
โดยระบุว่า "22.15 น. สวัสดียามค่ำค่ะ ดิฉันพึ่งได้กลับขึ้นเรือน วันนี้จริง ๆ เป็นวันที่ 20 ที่พังสีเวย มารักษาที่โรงพยาบาลช้างของมูลนิธิเพื่อนช้างแห่งนี้ จากอาการท้องผูก
การรักษาดำเนินไปตามที่ได้นำเรียนรายวันมาโดยตลอด ทั้งนี้การรักษาได้มีการปรึกษาหารือกับสัตวแพทย์ที่เคยให้การรักษามาก่อนหน้า และอาจารย์หมอผู้ชำนาญการและที่เคยให้การรักษาพังสีเวยมาก่อนด้วย
เมื่อวานได้สรุปที่ว่าวันนี้จะดำเนินการให้ยาซึม และจะใช้อุปกรณ์ช่วยอ้าปากให้ยา เพื่อให้มูลก้อนเจ้าปัญหาออกมา
ทั้งนี้ได้ความร่วมมืออย่างดียิ่งจากอาจารย์หมอบิ๊ค ฉัตรโชติ ทิตาราม ที่ปรึกษาฯ
วันนี้การให้การรักษายังคงเป็นเช่นทุกวันที่ผ่านมา และมีทีมผู้ใหญ่ใจดีประกอบด้วย ทีมสัตวแพทย์จาก สถาบันคชบาลแห่งชาติ
1. น.สพ.ทวีโภค อังควานิช ผู้จัดการส่วนอนุรักษ์และบริบาลช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ
2. สพ.ญ.วรางคณา ลังการ์พินธุ์ (หมอโบนัส) หัวหน้างาน โรงพยาบาลช้างลำปาง สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ
3. น.สพ.กิตติกุล นามวงค์พรหม (หมอยอด)
4. สพ.ญ.นฤพร กิตติศิริกุล (หมอมามี) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
5. สพ.ญ.ภาวินี กุลนานันท์ (หมอป่าน) สัตวแพทย์ ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า มช.
และ มูลนิธิเพื่อนช้าง สัตวแพทย์หญิงเครือทอง ขยัน (หมอเก๋) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลช้างมูลนิธิเพื่อนช้าง
ได้ทำการสวน ตรวจเลือด และทำการตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวนด์ ผลที่ได้เป็นดังนี้ค่ะ : จากการ ultrasound ช่องท้องพังสีเวย พบว่า
– ลำไส้ใหญ่ส่วน cecum (ไส้หมัก; ลำไส้ใหญ่ส่วนแรกที่ต่อมาจากลำไส้เล็ก) มีการฉีกขาด(แตก) มาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว พบ น้ำจากทางเดินอาหารอยู่ในช่องท้อง และพบ fibrin (โปรตีนที่ช่วยทำให้เลือดแข็งตัว) จำนวนมาก (ผล ultrasound ด้านขวาจะเจอเยอะกว่าด้านซ้าย) บริเวณผนังลำไส้ที่ฉีกขาดมีเนื้อเยื่อพังผืดมาเกาะ
– ท้องที่ขยายใหญ่ เป็นน้ำที่หลุดจากผนังลำไส้มาอยู่ในช่องท้อง ไม่ใช่แก๊สภายในลำไส้
– ไตมีการบวมอักเสบ เนื่องจากมีอาการป่วยต่อเนื่องมานาน
– ลำไส้ใหญ่มากบังตับทำให้มองไม่เห็นตับ
– ไม่พบก้อนมูลที่เป็นปัญหา คาดว่าก้อนมูลอาจอยู่บริเวณลำไส้ส่วน cecum (ไส้หมัก) หรือ ก่อนเข้าลำไส้ส่วน rectum (ไส้ตรง) ช้างอยู่ได้ถึงทุกวันนี้เนื่องจากการคุมการติดเชื้อและได้สารน้ำทุกวันค่ะ หากปล่อยนานกว่านี้ช้างจะทรมาน ลำไส้ที่ขยายใหญ่ดันไปกดช่องอก ทำให้ช้างหายใจไม่ออกและช็อคเสียชีวิต
ดิฉันขอขอบพระคุณอาจารย์หมอ คุณหมอทุกท่านที่มาช่วยในวันนี้อย่างมาก เป็นเรื่องที่ต้องรีบตัดสินใจค่ะ ดิฉันจึงขอคุยกับเจ้าของช้างโดยผอ.หมอเก๋ของเราอธิบายผลจากการตรวจ คุณยายทรมานมาก แสดงอาการปวดท้องอย่างที่สุด อ้าปาก ลิ้นซีดเป็นสีขาว ความทรมานนี้ควรยุติโดยเร็วที่สุด เพื่อให้คุณยายสีเวยพ้นความเจ็บปวด
โดยให้คุณยายได้หลับไปนิรันดร์ เจ้าของเข้าใจและอนุญาต คุณยายหลับไปเมื่อเวลา 21.23 น. คืนนี้ ท่ามกลางความเศร้าใจของเราเพื่อนช้างทุกคน สมาชิกครอบครัวของคุณยายได้มาลาคุณยายด้วยความอาลัยด้วย ขอแสดงความเสียใจอย่างที่สุดค่ะ หลับให้สบายนะคะคุณยาย ไม่เจ็บไม่ปวดแล้ว
ในชีวิต…การบอกลาไม่เคยง่ายเลยค่ะ ขอให้คุณยายสีเวยหลับให้สบายนะคะ…"