โอละพ่อ รองผู้ว่าฯ กทม. แจงแล้ว ปมคลิปแม่ค้าโรตีร้องไห้ ถูกเทศกิจไล่ที่
รองผู้ว่าฯกทม. ชี้แจงแล้ว ปมคลิปแม่ค้าโรตีร้องไห้ถูกเทศกิจไล่ที่-ทำร้ายร่างกาย ยืนยันไม่ใช้กำลังทำร้ายผู้ค้าสีลม
จากกรณีประเด็นดราม่าร้อนในโลกออนไลน์หลังว่อนคลิปที่กลายเป็นไวรัลบน tiktok ของแม่ค้าโรตีร้องไห้วิงวอนเพราะจะถูกเทศกิจไล่ที่ ซึ่งแม่ค้ารายดังกล่าวขายอยู่ที่บริเวณปากซอยทางเข้าศาลาแดง แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ได้อัดคลิป ร้องเรียนเทศกิจไล่ที่ทำมาหากินร้านโรตีและปอเปี๊ยะบริเวณหน้าปากซอยทางเข้าด้านหน้าของธนาคารกรุงเทพ
โดย แม่ค้าโรตี ชื่อ"ปุ๋ย" เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า เดิมทีคุณลุงมาตั้งร้านขายของปอเปี๊ยะก่อนนานมาแล้วประมาณ 20 กว่าปีตนและครอบครัวเลยมาตั้งร้านโรตีอยู่ที่นี่ได้ประมาณ 6 ปีแล้ว จากเดิมเคยก่อนยังขายได้ปกติ ก่อนจะโดนทางเทศกิจได้เข้ามาประกาศว่าให้ทางร้านที่อยู่บริเวณนี้ย้ายออก เพราะกีดขวางการเดินเท้าของประชาชนบริเวณละแวกนี้
ตนเองเลยไม่พอใจกันแล้วว่าจะขอลดขนาดร้านลงปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ให้ดูดีเพื่อที่จะขายของบริเวณนี้ได้อย่างตลอด แต่เทศกิจกลับนำกระถางต้นไม้ขนาดใหญ่ของสำนักงานเขตมาตั้งปิดกั้นเพื่อไม่ให้ตนเองตั้งร้านขายของได้อีก
เพราะก่อนหน้านี้เคยคุยกับทาง ผอ.เขตบางรักแล้วว่าจะให้ตั้งขายได้อีก6เดือนอยากวิงวอนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครขอความช่วยเหลืออนุเคราะห์ให้พวกเราได้ลืมตาอ้าปากได้ พวกเราต้องทำมาหากินบริเวณนี้ไหนจะค่าเช่าบ้านค่าหนังสือค่าเล่าเรียนลูก และอื่นๆอีกจิปาถะ ใครขอความอนุเคราะห์จากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วยนะคะ ให้พวกเราได้ลืมตาอ้าปากได้
ล่าสุด นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงชี้แจงกรณีการจัดระเบียบการทำการค้าบนทางเท้าถนนสีลม โดยมีนายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร และนางสาวอัญชนา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขตบางรัก ร่วมแถลงข่าว
ในฐานะรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องเทศกิจ รวมถึงฝ่ายเทศกิจของสำนักงานเขตด้วย จากช่วงเวลาที่ผ่านมาทางเท้าของกทม. มีผู้ค้าขายเป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีผู้ทำการค้าบนทางเท้าประมาณ 700 แห่ง ผู้ค้าประมาณ 20,000 ราย หลังจากเข้ามาแล้ว สิ่งแรกที่มีการหารือพูดคุยกันคือการจัดระเบียบผู้ค้าที่อยู่บนทางเท้า โดยวัตถุประสงค์สำคัญของทางเท้านั้นเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ในการสัญจร ขณะเดียวกันทางเท้าก็มีกฎหมายที่ให้ประชาชนหรือผู้ค้าที่มีความประสงค์จะทำการค้าขายต้องขออนุญาต ซึ่งขั้นตอนการขออนุญาตก็มีอยู่ตามกระบวนการ
โดยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา ได้มอบหมายให้สำนักเทศกิจและสำนักงานเขต สำรวจพื้นที่ในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นที่ที่ไม่ใช่ทางเท้า เพื่อในอนาคตจะให้ผู้ค้าที่อยู่บนผิวจราจรได้เข้าไปขายในที่ที่เหมาะสม และมีความถาวร ในขณะนั้นสำรวจพื้นได้ 125 แห่ง รองรับผู้ค้าได้ประมาณ 10,000 ราย หลังจากนั้นจึงนำมาพิจารณาว่าที่ตรงไหนเหมาะสมสำหรับทำการค้าขายต่อไปในอนาคต รวมถึง Hawker Center (ศูนย์อาหาร) ด้วย ซึ่งมีหลายจุดที่สำนักงานเขตกำลังสำรวจ หลายจุดอยู่ในระหว่างการเจรจากับเจ้าของที่ และหลายจุดเป็นที่ของกทม.เอง
ในส่วนของการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กล่าวว่า เป็นหนึ่งในหน้าที่ของสำนักเทศกิจในด้านการจัดระเบียบเมือง โดยมีขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจน ตามพรบ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ในขั้นต้นเมื่อพบการกระทำผิดต้องไปชี้แจงแนะนำให้ทำการแก้ไข หากแก้ไขแล้วถือว่าไม่มีความผิด หากยังไม่แก้ไข เจ้าพนักงานสามารถจับกุมผู้กระทำความผิด ยึดของกลางมายังสำนักงานเขต และมีการเปรียบเทียบปรับดำเนินคดี ซึ่งเป็นระเบียบขั้นตอนที่ปฏิบัติมาโดยตลอด สำหรับกรณีที่ถนนสีลม ได้มีการประชาสัมพันธ์แก่ผู้ค้าบริเวณถนนสีลมมาเป็นระยะเวลานานแล้ว และได้ทำตามระเบียบขั้นตอนตามที่กล่าวข้างต้น
ด้านนางสาวอัญชนา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขตบางรัก กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานเขตได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมากผ่านหลายช่องทาง ทั้ง traffy fondue ทางออนไลน์และออฟไลน์ เรื่องการตั้งแผงค้ารุกล้ำทางเท้าบริเวณถนนสีลม ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการสัญจรทั้งทางเท้าและท้องถนน ซึ่งสำนักงานเขตบางรักได้เจรจาพูดคุยขอความร่วมมือกับกลุ่มผู้ค้าให้ย้ายจุดทำการค้า
ได้ดำเนินการโดยมีการออกประกาศสำนักงานเขตห้ามตั้งวางจำหน่ายสินค้าในบริเวณที่กำหนดครั้งแรกให้มีผลในเดือนพฤศจิกายน 2565 และมีประกาศในวันที่ 25 ธันวาคม 2565 แจ้งการลงพื้นที่ถนนสีลมพูดคุยกับผู้ค้าให้ย้ายแผงค้าออกจากพื้นที่ มีผลวันที่ 2 มกราคม 2566 และออกประกาศห้ามตั้งวางฯ ครั้งที่ 2 มีผลวันที่ 17 ม.ค. 66 โดยระหว่างนั้นได้มีการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์และเจรจาขอความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง
รวมถึงการเชิญผู้ค้ามาร่วมประชุมและชี้แจงจุดผ่อนผันการค้าหลายครั้งในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งผู้ค้าส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือย้ายจุดการค้าไปอยู่ในถนนคอนแวนต์ ซอยศาลาแดง ตรงข้ามวัดแขก และตลาดพัฒน์พงษ์ จะมีเพียงบางรายที่ฝ่าฝืน และจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายกับรายที่ต่อต้าน อย่างไรก็ตามเขตยังยืนยันที่จะใช้วิธีการเจรจาและระมัดระวังการกระทบกระทั่งกับผู้ค้า
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ถนนสีลมตามที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ชี้แจงว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์วันที่ 20 ม.ค.
ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ค้ารายนี้ ได้ความว่า ฝ่ายเทศกิจของสำนักงานเขตบางรัก ได้ตกลงเตรียมพื้นที่แห่งใหม่สำหรับค้าขายไว้ให้ในซอยศาลาแดง แต่ยังไม่ดำเนินการให้ ทั้งนี้สำหรับผู้ค้าในพื้นที่ถนนสีลม ได้เตรียมที่สำหรับทำการค้าไว้ให้แล้ว 3 แห่ง คือ
-ซอยศาลาแดง
-ซอยคอนแวนต์
และถนนสีลมตรงข้ามวัดแขก
ตนจึงได้สั่งการโดยตรงไปยังหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตบางรัก ให้ได้พูดคุยกันเป็นที่เรียบร้อย แต่หลังจากนั้นหัวหน้าฝ่ายเทศกิจได้รายงานว่าผู้ค้ารายนี้ไม่ยอมเข้าไปทำการค้าในพื้นที่ที่จัดให้
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 20 ม.ค. ได้ลงพื้นที่ถนนสีลมหลังการจัดระเบียบแล้ว ซึ่งตลอดถนนทั้งสายมีผู้ค้าเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ลงขายบนทางเท้าเกินกำหนด จึงได้เข้าพบพร้อมหัวหน้าฝ่ายเทศกิจเพื่อชี้แจงว่าปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และขอให้ย้ายออกจากจุดนี้ ซึ่งผู้ค้ารายนี้ไม่ยอมปฏิบัติตามพร้อมทั้งเตรียมที่จะขายของต่อ จึงได้แจ้งว่าจำเป็นต้องยึดของกลางไปที่สำนักงานเขต เพื่อให้ผู้ค้าหยุดทำการค้าขายไปก่อนและไปพูดคุยทำความเข้าใจที่สำนักงานเขต ขณะที่กำลังพูดคุยทำความเข้าใจและยึดของกลาง มีประชาชนเริ่มเข้ามารุมล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีการด่าทอเจ้าหน้าที่ ตนจึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ถอยออกมาเพื่อให้ไม่เกิดการกระทบกระทั่ง
โดยระหว่างถอยออกมามีหญิงท่านหนึ่งเดินมาประกบหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ ซึ่งตนเดินตามอยู่ด้านหลัง ขณะที่กำลังเดินออกมาหญิงท่านนั้นก็ล้มลงไปเองโดยที่ไม่มีใครแตะต้องตัวเลย หลังจากล้มลงชายคนหนึ่งได้ชี้ไปที่หัวหน้าฝ่ายเทศกิจพร้อมกล่าวว่า หัวหน้าฝ่ายเทศกิจทำร้ายประชาชน ตนจึงได้บอกเจ้าหน้าที่ว่าอย่าต่อล้อต่อเถียง ให้เดินหนีออกมา และแม้ว่าจะเดินข้ามถนนมาอีกฝั่งหนึ่งแล้วคนกลุ่มนี้ยังเดินตามมาด่าทอเจ้าหน้าที่ต่อ จึงขอยืนยันว่า ตามที่มีคลิปวิดีโอเผยแพร่ออกไปว่า รองผู้ว่าฯ ทำร้ายประชาชนนั้น ไม่เป็นความจริง
ในส่วนของนายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร ชี้แจงเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบคลิปวิดีโอเหตุการณ์ที่ปรากฏ ยังไม่พบภาพที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่กทม. มีการผลักหรือทำให้หญิงท่านนั้นล้มลง และนโยบายของกทม. นั้นจะไม่มีการใช้กำลัง
แต่หากท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติม สามารถส่งให้ทางกทม.เพื่อพิสูจน์ความจริงได้ และขอยืนยันว่ากทม.ไม่ได้มีประกาศห้ามทำการค้าตามที่หลายคนกล่าว เพราะมีการจัดระเบียบและจัดพื้นที่ให้ค้าขาย ซึ่งผู้ค้าจำนวนมากให้ความร่วมมือแล้ว เหลือเพียงบางส่วนที่ต้องเจรจาต่อไป และขอย้ำตามที่ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ พูดไว้ว่า ทางเท้าไม่ใช่ของใครท่านใดท่านหนึ่ง แต่เป็นทางเดินเท้าของทุก ๆ คน การจัดระเบียบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสูดแก่ทุก ๆ คน จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมที่ Tnews