หมอธีระ เตือนจับตา โควิดสายพันธุ์ XBB.1.5 ไม่ควรประมาท วางแผนป้องกันให้ดี
หมอธีระ เตือนจับตา โควิด-19 สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 ดื้อต่อภูมิคุ้มกัน ไม่ควรประมาท และวางแผนเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคให้ดี
วันที่ 3 ม.ค. 66 "หมอธีระ" หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก โควิด-19 สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 ระบุว่า...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 191,791 คน ตายเพิ่ม 879 คน รวมแล้วติดไป 665,458,331 คน เสียชีวิตรวม 6,698,979 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และบราซิล
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 83.37 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 85.43
ลักษณะสายพันธุ์ที่ระบาดในจีน
ข้อมูลจาก GISAID จนถึงเมื่อวานนี้ 2 มกราคม 2565
มีการส่งผลสุ่มตรวจสายพันธุ์มา 724 ตัวอย่าง พบว่ามีสายพันธุ์ย่อยที่หลากหลาย แม้หนึ่งในสามจะเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.5.2 และ BF.7
แต่ที่น่าสังเกตและต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ การมีสายพันธุ์ย่อยอื่นที่ทั่วโลกกังวลด้วย ทั้ง BQ.1.x, CH.1.1, XBB.x รวมถึง XBB.1.5
เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับ XBB.1.5
ข้อมูลจาก Bloom lab จาก Fred Hutchinson Cancer Research Center ประเทศสหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่า จากการประเมินการระบาดของ XBB.1.5 ในอเมริกา ค่าสมรรถนะการแพร่ (Rt) ของสายพันธุ์ย่อยนี้สูงกว่าทุกสายพันธุ์ที่มีอยู่ แม้แต่ BQ.1.1 ที่ระบาดหนักในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม
แม้จะเป็นลูกหลานของ XBB และ XBB.1 ก็ตาม แต่ XBB.1.5 นั้นนอกจากมีคุณสมบัติเหมือนพ่อแม่คือ ดื้อต่อภูมิคุ้มกันอย่างมากแล้ว ยังพัฒนาตัวเองให้แพร่ได้มากกว่าเดิมเพราะมีการกลายพันธุ์บางตำแหน่งที่ทำให้สามารถจับกับตัวรับ ACE2 ที่ผิวเซลล์เป้าหมายได้แน่นกว่าเดิม จึงน่าจะทำให้ติดง่ายขึ้น ดังที่พิสูจน์ให้เห็นจากงานวิจัยของ Cao YL จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อสัปดาห์ก่อน
ถามว่า XBB.1.5 นี้จะทำให้ป่วยรุนแรงมากขึ้น ตายมากขึ้น หรือไม่นั้น คงต้องรอติดตามดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีการระบาดมากมาก่อน แต่ที่แน่ๆ คือ ไม่ควรประมาท และวางแผนเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าจากต่างประเทศของนักท่องเที่ยวจากประเทศเสี่ยง
สถานการณ์ของไทย ยังมีการระบาดต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากมีกิจกรรมพบปะสังสรรค์ บันเทิงในช่วงหยุดยาวที่ผ่านมา
รวมถึงงานบุญ งานศพ และอื่นๆ ที่มีคนจำนวนมาก แออัด ระบายอากาศไม่ดี
ขอให้สังเกตอาการผิดปกติ ตรวจ ATK และหากติดเชื้อ ก็ควรแยกตัวอย่างน้อย 7-10 วันจนกว่าจะดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจซ้ำได้ผลลบ
หากไม่สบาย ไอ เจ็บคอ จาม ไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ แต่ตรวจได้ผลลบ อย่าเพิ่งวางใจ เพราะอาจเป็นผลลบปลอม ควรตรวจซ้ำทุกวันอย่างน้อยติดกัน 3 วัน และป้องกันการแพร่ให้แก่คนใกล้ชิด
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
ติดแต่ละครั้งไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อการเปิดกล่อง Pandora แล้วเจอ Long COVID ระยะยาว
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ ระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมที่ Tnews