เตือนพายุไต้ฝุ่นลูกที่ 14 "จ่อถล่มเอเชีย" คาดรุนแรงสุดในรอบ 70 ปี
ประกาศเตือนภัยพายุไต้ฝุ่นลูกที่ 14 ของปี 65 จ่อถล่มเอเชียถือเป็นเป็นพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่และรุนแรงมาก คาดการณ์รุนแรงสุดในรอบ 70 ปี
ถึงแม้ว่าอากาศในประเทศไทยช่วงนี้จะเริ่มมีฝนน้อยลง แต่ยังวางใจไม่ได้ เมื่อ พยากรณ์อากาศล่าสุดยังพบ ร่องมรสุมจะเลื่อนกลับมาพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน
พยากรณ์อากาศวันนี้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง (รวม กทม.และปริมณฑล) และภาคตะวันออก
นั่นหมายความว่า ประชาชน ยังต้องเฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ตลอดช่วง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มที่จะเกิดในช่วงวันที่ 17 - 26 กันยายน 2565
เกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ยังได้อัพเดทสถานการณ์พายุไต้ฝุ่น "นันมาดอล" (NANMADOL) เพิ่มเติมอีกด้วย โดยระบุว่า วันที่ 17 กันยายน 2565 พายุไต้ฝุ่นลูกนี้ ยังมีศูนย์กลางอยู่บริเวณมหาสมุทรด้านตะวันตก กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ค่อนไปทางเหนือ
คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศญี่ปุ่น ช่วงวันที่ 18 ก.ย. 65 เตือนผู้ที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ต้องตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง อย่างไรก็ดี พายุนี้ไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย แต่ฝนที่เกิดขึ้นช่วงนี้ เนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุม และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
สำหรับ พายุไต้ฝุ่นนันมาดอล ทางการญี่ปุ่นออกประกาศเตือนภัย ถือเป็นพายุลูกที่ 14 ของปีนี้ มีชื่อเป็นภาษาไมโครนีเซียว่า นันมาดอล (NANMADOL) ซึ่งเป็นพายุกำลังขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของญี่ปุ่น จะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักทั่วประเทศ
ทั้งนี้ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ออกประกาศเตือนภัย ที่จังหวัดคาโกชิมะ และพื้นที่ทางตอนเหนือของเกาะคิวชู ซึ่งเป็นเกาะหลักทางใต้สุดของญี่ปุ่น เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูง ที่พื้นที่ดังกล่าวจะเกิดคลื่นสูงและมีฝนตกหนักมาก
อย่างไรก็ตาม พายุนันมาดอล ถือเป็นเป็นพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่และรุนแรงมาก ความกดอากาศตรงกลาง 910hPa ความเร็วลมสูงสุดที่ 70m/s (252km/h) ซึ่งในสถิติ ยังไม่มีพายุไต้ฝุ่น ที่มีความกดอากาศต่ำกว่า 925hPa ในแผ่นดินญี่ปุ่น มาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1951 คาดการณ์รุนแรงสุดในรอบ 70 ปี
ข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews