แจ้งยกเลิกด่วน วงประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลตามเอ็มโอยู หลังนัดหารือวันนี้
แจ้งยกเลิกด่วน วงประชุมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคร่วมรัฐบาลตามเอ็มโอยู หลังเปลี่ยนสถานที่จากเพื่อไทยไปรัฐสภานัดหารือวันนี้
วันที่ 25 ก.ค.66 จากกรณีมีกำหนดการประชุมหารือของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลตามเอ็มโอยู จากเดิมมีกำหนดการจะประชุมที่พรรคเพื่อไทยเวลา 14.00 น. ก่อนเช้าวันนี้ (25 ก.ค.) ได้รับการยืนยันจากทางพรรคเพื่อไทย ว่าได้แจ้งเปลี่ยนสถานที่ประชุมเป็นที่อาคารรัฐสภาแทน เวลา 15.00 น.
ล่าสุดเวลา 12.00น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วงประชุม 8 พรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้แจ้งยกเลิกประชุมแล้ว โดยพรรคเพื่อไทยขอแจ้งยกเลิก ส่วนเหตุผลเนื่องจากการทำงานที่ได้รับมอบหมาย ยังไม่มีความคืบหน้าอีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเลื่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ ออกไปก่อนหรือไม่ ซึ่งต้องรอผลการหารือจากวงประชุมวิป 3 ฝ่ายก่อน ส่วนจะนัดประชุมอีกครั้งวันไหนคงต้องรอรายละเอียด
โดยเมื่อช่วงเช้าวันที่ 25 ก.ค. 66 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวภายหลังผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยกระบวนการตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมาชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พร้อมขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภา ชะลอกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปก่อนว่า
ได้รับทราบมติดังกล่าวแล้ว ซึ่งสภา ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมาย และฝ่ายประสานงานของสภา ไปพิจารณาแนวทางที่รัฐสภาควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยฝ่ายกฎหมายฯ จะเสนอให้ตนรับทราบ ในเวลา 14.00 น. วันนี้ (25 ก.ค.) จากนั้น ก็จะพิจารณาต่อว่า ควรจะเลื่อนการประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 ในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ ออกไปก่อนหรือไม่
ประธานรัฐสภา ยังยืนยันด้วยว่า ประธานรัฐสภา มีอำนาจในการส่งงดการประชุมได้ แต่ก็จะต้องรอฟังฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาที่จะนำเสนอมาในช่วงบ่ายวันนี้ก่อน ซึ่งยังมีเวลาพิจารณา และในวันพรุ่งนี้ (26 ก.ค.) ตนเอง ยังได้นัดหารือร่วมกับพรรคการเมือง และคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือ วิปวุฒิสภา มาหารือก่อน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนก่อนที่จะพิจารณาดำเนินการต่อไป
ส่วนกรณีที่นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาแสดงความเห็นศาลรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถตีความ หรือตรวจสอบข้อบังคับรัฐสภาได้ เพราะเป็นเรื่องภายในของรัฐสภา และศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจให้รับเรื่องในลักษณะดังกล่าวมาพิจารณาได้นั้น ประธานรัฐสภา เห็นว่า ไม่ว่าอย่างไรก็จะต้องรอฟังคำวินิจฉัย หรือคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญก่อนว่าจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร
เพราะคำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น มีผลผูกพันธ์ทุกองค์กร และขณะนี้ ยังไม่ทราบว่า ศาลฯ จะรับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งหากศาลฯ ไม่รับวินิจฉัย รัฐสภาก็สามารถดำเนินกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ หรือหากศาลรับคำร้องไว้วินิจฉัย ก็จะต้องรอพิจรณาต่อว่า ศาลฯ จะมีคำสั่งให้ชะลอกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปก่อนหรือไม่
ประธานรัฐสภา ยังเชื่อด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะเร่งประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องดังกล่าว เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือความขัดแย้งในทางปฏิบัติ และเชื่อว่า ภายในวันนี้ (25 ก.ค.) น่าจะสามารถประเมินสถานการณ์ได้ พร้อมปฏิเสธที่จะยืนยันด้วยว่า จะมีการเลื่อนการประชุมรัฐสภา ในวันที่ 27 กรกฎาคม ไปเป็นวันที่ 3 สิงหาคมนี้ ตามที่มีสมาชิกวุฒิสภาคาดการณ์หรือไม่