ดาราดังตรวจเจอมะเร็งในวัย 59 ปี ก่อนนึกย้อน 2 การกิน ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคร้าย
ดาราดังตรวจเจอมะเร็งในวัย 59 ปี ลูกสาวช็อกอ่านผลตรวจแม่ ก่อนนึกย้อนพฤติกรรมการกิน เห็นชัดปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคร้าย
ทำแฟนคลับใจหายไปตามๆ กัน เมื่อจู่ๆ นักร้อง - นักแสดงหญิงชื่อดังชาวไต้หวันอย่าง ฟาง เหวินหลิน (Fang Wen Lin) ก็ออกมาบอกแฟนคลับผ่านโซเชียลมีเดียว่า เธอป่วยเป็นมะเร็งในวัย 59 ปี
ฟาง เหวินหลิน ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหลอดอาหารในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งเธอพิจารณาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในอดีตของเธอและเชื่อว่า การดื่มเหล้ากลั่นก่อนนอน และการชอบกินซุปร้อนๆ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้
ด้วยความที่เธอชื่นชอบการวิ่ง ทำให้หลายคนมองว่าเธอเป็นคนแข็งแรง ซึ่งเธอเปิดเผยว่าไม่ได้ตรวจสุขภาพมา 3 ปีแล้ว ครั้งล่าสุดที่เธอตรวจสุขภาพแบบเต็มรูปแบบเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนปีนี้ ซึ่งความตั้งใจของเธอคือขอให้ไม่มีปัญหาใหญ่เกี่ยวกับลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหาร เพราะครอบครัวของของเธอมีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งกระเพาะอาหาร ส่วนอื่นๆ เธอไม่ค่อยสนใจและไม่ได้ใส่ใจรายงานที่หมอให้กลับบ้านในวันนั้น
วันต่อมา ลูกสาวของเธออ่านรายงานทางการแพทย์และพบว่ามีตัวอักษรสีแดงบ่งบอกถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับมะเร็งหลอดอาหาร ลูกสาวของเธอจึงตรวจดูให้ละเอียดและเปรียบเทียบกับรายงานเมื่อ 3 ปีที่แล้ว "มีตัวอักษรสีแดงเตือนเกี่ยวกับดัชนีมะเร็งที่สูงถึง 7 จุด (ปกติอยู่ที่ 0-3) และสำหรับผู้สูบบุหรี่ (4-5) ฉันคิดว่าเป็นไปไม่ได้ สองวันต่อมา หมอโทรมาแจ้งผลเลือดว่าดัชนีมะเร็งสูงถึง 9.8 แต่ต้องรอผลตรวจชิ้นเนื้ออีก 2 วัน"
ช่วงเวลาที่รอผลตรวจเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก ฟาง เหวินหลินและลูกสาวต่างคนต่างไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของมะเร็งหลอดอาหาร วิธีการรักษา และอัตราการรอดชีวิต คืนหนึ่งหลังจากที่ลูกสาวเข้ามาในห้อง เธอก็ร้องไห้บอกแม่ไม่ควรเป็นแบบนี้ มะเร็งนี้เกือบจะเกิดในผู้ชายเท่านั้น แต่แม่ดันเป็น ซึ่งเธอตอบว่า ถ้ามันเกิดขึ้นก็ต้องยอมรับมัน แม้ว่าผลจะไม่ดี ชีวิตของแม่ก็ยอดเยี่ยมพอแล้ว
พร้อมกันนี้ ฟาง เหวินหลิน ได้ลองย้อนกลับไปมองนิสัยการกินของเธอ เธอเล่าว่า "ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฉันดื่มเหล้าเกาเหลียง 58 ดีกรีก่อนนอนเล็กน้อย และชอบกินซุปร้อน แม้ว่าปากจะโดนลวกหรือเป็นแผลก็ไม่สนใจ แต่มันทำลายหลอดอาหาร สิ่งสำคัญคือเหล้าเกาเหลียงที่แรงมาก!" โชคดีที่ผลตรวจชี้ว่าเป็นระยะศูนย์และไม่จำเป็นต้องทำเคมีบำบัด
โดยสถิติของกระทรวงสาธารณสุขไต้หวันปี 112 มะเร็งหลอดอาหารติดอันดับที่ 9 ใน 10 อันดับแรกของอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็ง โดยอัตราการรอดชีวิต 5 ปีของมะเร็งหลอดอาหารอยู่ที่ประมาณ 20-25% แต่หากมะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ปอด หรืออวัยวะอื่น ๆ อัตราการรอดชีวิตใน 5 ปีจะลดลงเหลือเพียงน้อยกว่า 5% มะเร็งชนิดนี้จึงถูกเรียกว่า "มะเร็งนักฆ่าเงียบ"
ตัวอย่างเช่น แอนดี้ ศิลปินวัย 57 ปี และ เหยียน ไคไท ประธานกลุ่มบริษัทหยูลอน วัย 54 ปี ต่างก็เสียชีวิตจากมะเร็งหลอดอาหาร ทั้งสองคนใช้เวลาประมาณหนึ่งปีนับจากวันที่ตรวจพบมะเร็งจนถึงการเสียชีวิต
จากข้อมูลของมูลนิธิมะเร็งไต้หวัน มะเร็งหลอดอาหารมักไม่แสดงอาการในระยะแรก เนื่องจากอาหารยังสามารถผ่านหลอดอาหารได้ แต่เมื่อมะเร็งเติบโตขึ้น จะทำให้หลอดอาหารแคบลงจนเกิดอาการกลืนลำบาก ซึ่งมักจะพบมะเร็งในระยะท้ายๆ อาการอื่นๆ ได้แก่ เจ็บเมื่อกลืนอาหาร กรดไหลย้อน แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ และเจ็บที่หน้าอกหรือช่องท้องส่วนบน
จากการศึกษาของสมาคมมะเร็งแห่งสหรัฐฯ พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งหลอดอาหาร ได้แก่ การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เคี้ยวหมาก รวมถึงการรับประทานอาหารย่าง หมัก หรือแปรรูป อาหารที่ร้อนจัดก็เป็นปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน
นอกจากนี้ การดูแลสุขอนามัยในช่องปากก็สำคัญ งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยลุยส์วิลล์ในสหรัฐฯ และมหาวิทยาลัยเหอหนานในจีน พบว่า 61% ของผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารชนิดเซลล์สความัสมีแบคทีเรียที่เกี่ยวข้องกับโรคเหงือกอักเสบในช่องปาก นักวิจัยเชื่อว่าแบคทีเรียอาจกระตุ้นการเติบโตของเซลล์มะเร็ง
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันมะเร็งหลอดอาหาร มูลนิธิมะเร็งแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร้อนเกินไป งดการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และเคี้ยวหมาก รวมถึงการรับประทานผักผลไม้ที่มีวิตามินซีเพื่อป้องกันโรคนี้ หากรู้สึกกลืนลำบากเป็นเวลานานกว่าสองถึงสามสัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย
ข้อมูลจาก ETtoday