ภารกิจค้นหาผู้สูญหาย โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม จาก แผ่นดินไหว ยังไม่จบ แม้เจออุปสรรคแต่ทุกหน่วยร่วมมือกันเต็มที่ เครื่องจักรทำงาน 24 ชม. เน้นชั้นใต้ดินวันนี้
เผยชัดแล้ว จุดพบร่างมากที่สุด ในซากตึกสตง. ที่จริง คือจุดไหน
วันนี้ (6 พ.ค.68) เวลา 10.45 น. นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสุริยชัย ระวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. นำคณะสื่อมวลชนฯ ร่วมติดตามลงพื้นที่บริเวณพื้นที่โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ เขตจตุจักร ที่พังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา
เพื่อติดตามความคืบหน้าและผลการปฏิบัติงานตลอด 40 วันที่ผ่านมา หลังประเมินแล้วว่าในจุดที่นำคณะสื่อมวลชนเข้าไปนั้น มีความปลอดภัยในระดับหนึ่งแล้ว โดยมี นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม. เป็นผู้รายงานผลการดำเนินงานในจุดต่าง ๆ โดยระบุว่า ลักษณะของอาคารที่ถล่มเป็นอาคารสูง 30 ชั้น มีพื้นที่รวม 40×40 เมตร หรือประมาณ 50,000 ตารางเมตร มีลิฟท์ 10 ตัว และหลังจากเกิดเหตุการณ์ถล่มแล้ว โครงสร้างอาคารมีการลาดเอียงไปทางด้านหลัง ซึ่งเป็นจุดที่เชื่อมต่อกับอาคารจอดรถ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าช่วงระหว่างที่ถล่มนั้นอาจมีคนวิ่งเข้ามาในส่วนของอาคารจอดรถด้วย จึงยังคงต้องมีการค้นหาในบริเวณนี้ต่อจนกว่าจะเคลียร์พื้นที่ได้แบบแล้วเสร็จ 100%
ซึ่งจากการจำลองการหนีของคนส่วนใหญ่ของทุกชั้นจะวิ่งมาหาบันไดหนีไฟ ซึ่งเป็นจุดเดียวของอาคารที่เชื่อมระหว่างอาคาร 30 ชั้นกับอาคารจอดรถยนต์ จึงอาจมีผู้ติดค้างติดอยู่บริเวณเศษซากอาคารที่ถล่มลงมาในบริเวณจุดเชื่อมได้ ซึ่งสมมุติฐานดังกล่าวยังสอดคล้องกับ ข้อเท็จจริงที่พื้นที่ที่พบผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ในโซน C ตรงจุดที่คาดว่าเป็นช่วงบันไดหนีไฟ จึงคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 วันจะค้นหาบริเวณชั้นใต้ดแล้วเสร็จ และภายใน 4-5 วัน จึงจะแล้วเสร็จภารกิจ โดยในเบื้องต้นจะพยายามให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 พฤษภาคมที่จะถึงนี้
เผยชัดแล้ว จุดพบร่างมากที่สุด ในซากตึกสตง. ที่จริง คือจุดไหน
“อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า กทม. ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานในการกู้ซากอาคาร แต่ยืนยันว่าจะทำงานด้วยความพยายามและระมัดระวัง เพื่อค้นหาและนำผู้ติดค้างออกมาให้ได้ครบถ้วนที่สุด” นายไทวุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ กทม. ขอขอบคุณการสนับสนุนเครื่องจักรกล และอุปกรณ์ต่าง ๆ จากทุกหน่วยงานภาคี ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่เข้ามาช่วยดำเนินการตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ ซึ่งทุกคนมาด้วยใจและช่วยกันดำเนินการอย่างเต็มที่ จนภารกิจในครั้งนี้มีเครื่องจักรร่วมสนับสนุนการดำเนินการทั้งหมดกว่า 80 เครื่อง แม้การดำเนินงานในแต่ละวันค่อนข้างมีอุปสรรค มีการวางแผนงานการประชุม 9 โมงเช้าและ 6 โมงเย็นทุกวัน และหน้างานมีการมีปัญหา ที่ต้องวางแผนแก้ปัญหาในแต่ละวันที่ไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนที่เข้ามาก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ในการค้นหาผู้สูญหาย และตลอดเวลาที่ผ่านมาเครื่องจักรต่างๆ มีการทำงานอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อที่จะเร่งกู้ร่างของผู้ที่ติดอยู่ในซากตึก ซึ่งการทำงานของเครื่องจักรทุกคันในวันนี้จะเน้นไปที่การทำงานบริเวณชั้นใต้ดินทั้งหมด
เผยชัดแล้ว จุดพบร่างมากที่สุด ในซากตึกสตง. ที่จริง คือจุดไหน