กรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่มลงมา เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งค้นหาร่างของคนงานที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารอย่างเต็มกำลัง พร้อมกันนี้ยังเกิดคำถามจากสังคมเกี่ยวกับสาเหตุของการพังถล่ม ว่าเริ่มต้นจากจุดใด และวัสดุที่ใช้ก่อสร้างได้มาตรฐานหรือไม่
ล่าสุด ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งเป็นวิศวกรจิตอาสา มีความรู้ด้านเหล็ก ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับโครงสร้างเหล็กของอาคาร สตง. ที่พังถล่ม โดยระบุว่าสอดคล้องกับสมมติฐานที่ว่า อาคารแห่งนี้ใช้เหล็ก DB. 32 SD.50 ซึ่งเป็นเหล็กที่มีปัญหา จากประสบการณ์ทำงานโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน เหล็กชนิดนี้มักมีค่าผลทดสอบจากห้องปฏิบัติการ (Lab Test) ที่แสดงค่า Yield ต่ำ แม้ว่าค่า Strength จะผ่านเกณฑ์มากกว่า 5,000 kg/cm² แต่กลับมีปัญหาด้านความยืดหยุ่นและการดัดโค้ง โดยเหล็กมีลักษณะเป็นสองชั้น แข็งด้านนอกแต่อ่อนด้านใน ส่งผลให้เมื่อถูกบิดไปมาจะเกิดการปริแตกและร้าวลึกเข้าไปถึงหน้าตัด ส่งผลให้ค่าความแข็งแรง (Strength) ลดลงทันที ทำให้เหล็กประเภทนี้ไม่เหมาะกับอาคารสูงที่ต้องเผชิญกับการขยับตัวจากแรงภายนอก
นอกจากนี้ วิศวกรรายดังกล่าวยังตั้งข้อสังเกตว่า เหล็กเส้นที่พบในพื้นที่ก่อสร้างของอาคาร สตง. มาจากโรงงานที่ได้รับมาตรฐาน มอก. อย่างไรก็ตาม มีเหล็กบางยี่ห้อที่เป็นเหล็กรีไซเคิล และมีการเติมธาตุเพื่อเพิ่มความแข็งและความเหนียว ซึ่งต้องตรวจสอบผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการมาตรฐาน (Lab Test) ของแต่ละชุดการผลิต (Heat No.) ขณะที่วัสดุถูกนำส่งมายังไซต์งาน มีการสุ่มตรวจสอบหรือไม่? และทางโรงงานผู้ผลิตมีการสุ่มทดสอบในทุกเตาหลอม รวมถึงยื่นผลการทดสอบจากสถาบันมาตรฐานให้หน่วยงาน มอก. ตรวจสอบก่อนจำหน่ายหรือไม่?
หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ได้มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก