อาหารค้างคืน อุ่นซ้ำอันตรายจริงเท่าสารหนูจริงไหม ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "การอุ่นอาหารค้างคืน อันตรายเทียบเท่าสารหนูจริงหรือ?" เพื่อตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารที่นำมาอุ่นซ้ำพร้อมแนะวิธีเก็บอาหารให้ปลอดภัย ระบุ ความปลอดภัยของการเก็บอาหารไว้ข้ามคืน เป็นประเด็นที่หลายคนกังวล เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีคำกล่าวอ้างว่า อาหารบางประเภทอาจเป็นอันตรายเทียบเท่ากับสารหนู หากเก็บทิ้งไว้ข้ามคืนและนำมารับประทานใหม่
ตรวจสอบข้อเท็จจริง : เราได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารแต่ละชนิดตามที่มีการกล่าวอ้าง และวิธีการจัดเก็บที่ถูกต้องดังนี้
แนวทางการเก็บรักษาอาหารให้ปลอดภัย
แช่เย็นอาหารภายใน 2 ชม. หลังปรุงสุก (หากอุณหภูมิแวดล้อมเกิน 90°F หรือ 32°C ให้ลดเหลือ 1 ชม.) ควรเก็บอาหารไว้ในภาชนะที่ปิดสนิทที่อุณหภูมิ 40°F (4°C) หรือต่ำกว่า และการแช่แข็งสามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาได้
ความเสี่ยงของการเก็บรักษาอาหารที่ไม่ถูกต้อง
อาหารที่เก็บไม่ถูกต้อง อาจก่อให้เกิดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและโรคจากอาหาร ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) ประเมินว่า มีผู้ป่วยจากอาหารปนเปื้อนประมาณ 48 ล้านคนต่อปีในสหรัฐฯ โดยมีอาการตั้งแต่ไม่รุนแรง (คลื่นไส้ อาเจียน) ไปจนถึงอาการรุนแรงที่อาจนำไปสู่การรักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต (ประมาณ 3,000 รายต่อปี) กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์ มีโอกาสได้รับผลกระทบรุนแรงจากเชื้อแบคทีเรีย แต่ถึงแม้จะมีความเสี่ยงสูงกว่าสำหรับบางกลุ่ม ก็ยังไม่สามารถเทียบเคียงกับพิษของสารหนูได้
การเปรียบเทียบกับสารหนู : เป็นสารพิษร้ายแรงที่อาจถึงแก่ชีวิตได้แม้ในปริมาณเล็กน้อย (100 – 300 มิลลิกรัม) ในขณะที่อาหารที่เก็บรักษาไม่ดีอาจนำไปสู่การปนเปื้อนของแบคทีเรียและทำให้เกิดโรคจากอาหาร ซึ่งแม้อาจมีอาการรุนแรงในบางกรณี แต่ไม่สามารถเทียบเคียงกับพิษของสารหนูได้โดยตรง การเปรียบเทียบนี้จึงเป็นการกล่าวเกินจริง
อ.เจษฎา ระบุอีกด้วยว่า การกินผักต้มค้างคืนและอุ่นซ้ำไม่ได้ทำให้เกิดสารหนู หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง ตามที่มีการแชร์กัน สารหนูไม่ได้เกิดจากการอุ่นอาหารซ้ำ แต่เป็นสารที่ปนเปื้อนมาตั้งแต่ในแหล่งกำเนิดของอาหาร แต่สิ่งสำคัญคือการจัดการและเก็บรักษาอาหารอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากอาหาร จึงควรการเก็บอาหารด้วยวิธีการที่เหมาะสม และนำเข้าแช่ตู้เย็นภายในเวลาที่แนะนำจากปรุงเสร็จ