ลสืบเนื่องจากกรณีเพจเฟซบุ๊ก SiamTownUS โพสต์แจ้งข่าวว่า เพจเฟซบุ๊ก Suññataram California Monastery PhraAjahn Yantra Amaro ของวัดสุญญตาราม เอสคอนดิโด้ แคลิฟอร์เนีย ได้โพสต์รูปพร้อมข้อความว่า พระยันตระ หรือ นายวินัย ละอองสุวรรณ ประธานสงฆ์ ได้เสียชีวิตแล้ว "ขอน้อมถวายความอาลัย น้อมส่งหลวงพ่อสู่พระนิพพาน พระอาจารย์ยันตระ อมโร ประธานสงฆ์และผู้นำทางจิตวิณญาณวัดสุญญตาราม ได้ละสังขารแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม 2025 ณ วัดสุญญตารามเอสคอนดิโด้ สิริรวมอายุ 73 ปี พรรษา 51"
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่ภาพ อดีตพระยันตระ เดินทางกลับมาประเทศไทยเมื่อช่วงเที่ยงคืนวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยซึ่งมีลูกศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือเดินทางมาต้อนรับ
สำหรับประวัติ พระยันตระ อมโรภิกขุ มีชื่อเดิมว่า นายวินัย ละอองสุวรรณ เคยปฏิบัติตนเป็นฤาษี อุปสมบทที่วัดรัตนาราม อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2517 แทนตัวเองว่า พระยันตระ แปลว่า ผู้ไกลจากกิเลสเคยมีชื่อเสียงมากในช่วง ปี พ.ศ. 2520-2530 ในฐานะพระนักปฏิบัติและนักเผยแผ่ธรรมะ แต่ภายหลังถูกกล่าวหาเกี่ยวกับพฤติกรรมไม่เหมาะสม จนถูกคณะสงฆ์ไทยสั่งให้ลาสิกขา
นายวินัย ละอองสุวรรณ เป็นชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2494 ก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เขาได้ปฏิบัติตนเป็นนักพรตฤๅษีอยู่หลายปีจนเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ต่อมาได้อุปสมบทเป็นภิกษุในธรรมยุติกนิกายเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 ณ พัทธสีมาวัดรัตนาราม อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
พระวินัย เมื่ออุปสมบทมักใช้คำแทนตัวว่า พระยันตระ ซึ่งแปลว่าผู้ไกลจากกิเลส ที่เคยใช้มาตั้งแต่ยังเป็นฤๅษียันตระ เมื่อบวชแล้วเป็นที่รู้จักดีทำให้มีผู้ศรัทธาบวชเพื่อเข้าเป็นลูกศิษย์มากมาย ทำให้เขามักแวดล้อมไปด้วยพระสงฆ์คอยอุปัฏฐากอยู่เสมอ ๆ นอกจากนี้ยังมีผู้ศรัทธาสร้างสำนักวัดถวายเขาหลายแห่ง โดยทุกวัดที่สร้างในสำนักเขาจะใช้คำว่า "สุญญตาราม" ประกอบด้วยเสมอ สำนักที่เป็นที่รู้จักดีคือ วัดป่าสุญญตาราม กาญจนบุรี และยังมีสำนักวัดป่าสุญญตารามของเขาในต่างประเทศอีกหลายแห่ง เช่นที่ วัดป่าสุญญตาราม เมืองบันดานูน รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น
ด้วยวัตรปฏิบัติรวมถึงคำสอนของเขา ทำให้พระวินัยถือเป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในยุคนั้น มีการตีพิมพ์เผยแพร่คำสอนรวมถึงได้รับนิมนต์ไปเทศนายังที่ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ คำสอนของเขาเน้นแนวทางปฏิบัติกรรมฐานซึ่งได้รับการยอมรับจากนักวิชาการศาสนาว่าถูกต้องกับพระไตรปิฎก
อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. 2537 เขาได้ถูกฟ้องร้องหลายข้อหาและถูกตั้งอธิกรณ์ว่าล่วงละเมิดเมถุนธรรมปาราชิกาบัติ อันเป็นหนึ่งในจตุตถปาราชิกาบัติที่ทำให้ขาดจากความเป็นพระภิกษุตามพระวินัยบัญญัติ โดยมีการต่อสู้ด้วยพยานหลักฐานมากมายตามสื่อต่าง ๆ เป็นข่าวโด่งดังในสมัยนั้น
สีกากลุ่มหนึ่งยื่นหนังสือร้องเรียน ต่อสมเด็จพระสังฆราชฯ และอธิบดีกรมการศาสนาว่า นายวินัย ละอองสุวรรณ เดินทางไปเทศนาที่ทวีปยุโรป ระหว่างลงเรือเดินสมุทรไม่สำรวมและมีความไม่เหมาะสมกับสมณเพศต่อสุภาพสตรี
มีเทปบันทึกการสนทนากับนางจันทิมา มายะรังษี หนึ่งในสีกาที่ร้องเรียนว่า นายวินัยล่อลวงเสพเมถุน, มีเอกสารของหม่อมดุษฎี บริพัตร อดีตโยมอุปัฏฐากคนสำคัญที่กล่าวถึงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมต่อความเป็นพระสงฆ์ ในขณะเดินทางไปต่างประเทศ และมีหลักฐานการลอกเลียนบทกวีของ ดร. ระวี ภาวิไล
มีข้อกล่าวหาที่ได้รับการเผยแพร่ออกมาว่า มีเพศสัมพันธ์กับสตรีบนดาดฟ้าเรือเดินสมุทรระหว่างทางจากประเทศสวีเดนไปยังประเทศฟินแลนด์, จับต้องกายสตรีด้วยความกำหนัด ณ กุฏิริมน้ำ วัดป่าสุญญตาราม ประเทศออสเตรเลีย, เข้าไปหาสตรีในรถตู้ของเธอบนท้องถนนกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย, ร่วมหลับนอนกับสตรี และพร่ำพูดถึงความรักทางโทรศัพท์ (มีหลักฐานเป็นเทปบันทึกเสียง)
นางจันทิมาพาเด็กหญิงซึ่งอ้างว่าเป็นบุตรสาวมาแสดงตัว พร้อมกับนำภาพถ่ายการใช้ชีวิตเยี่ยงสามีภรรยามาเปิดเผย มีการท้าให้ตรวจดีเอ็นเอ มีการเปิดเผยสลิปบัตรเครดิตที่มีโยมอุปัฏฐากบริจาคให้ ซึ่งถูกนำไปใช้ในสถานบริการทางเพศในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมทั้งหลักฐานการเปิดโรงแรมและเช่ารถร่วมกับสตรีเพียงสองต่อสอง
จนในที่สุดเขาได้ถูกมติมหาเถรสมาคมพิจารณาอธิกรณ์ปรับให้เขาพ้นจากความเป็นพระภิกษุ เพราะพิจารณาได้ความว่าเขาต้องอาบัติหนักดังที่ถูกฟ้องร้อง แต่นายวินัยไม่ยอมรับมติสงฆ์ดังกล่าว ด้วยการปฏิญาณตนว่ายังเป็นพระภิกษุและเปลี่ยนสีจีวรเป็นสีเขียว ทำให้ถูกสื่อต่าง ๆ ขนานนามว่า จิ้งเขียว, สมียันดะ, ยันดะ เป็นต้น ก่อนที่นายวินัยจะลักลอบทำหนังสือเดินทางปลอมเพื่อหลบหนีออกจากประเทศไทยไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาและได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง ทำให้นายวินัยสามารถหลบหนีคดีความอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต