วันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2568) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงกรณีข่าวการค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ HKU5 ในค้างคาว ซึ่งมีรายงานว่าสามารถเกาะกับตัวรับในเซลล์มนุษย์ได้ดีคล้ายโควิด-19 ว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงผลการวิจัยจากห้องแล็บจีนเมื่อปี 2566 และยังไม่มีหลักฐานว่าสามารถแพร่ระบาดหรือติดเชื้อสู่คน
ไวรัส HKU5-CoV-2 เป็นหนึ่งในไวรัสตระกูล Merbecovirus ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มโคโรนาไวรัสและมีความหลากหลายทางพันธุกรรม ไม่ใช่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือกลายพันธุ์จากโควิด-19 โดยทีมนักวิจัยพบว่าไวรัสชนิดนี้มีคุณสมบัติการจับตัวกับ ACE2 ของมนุษย์ในลักษณะที่แตกต่างจากไวรัสตระกูลเดียวกัน ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่าอาจมีศักยภาพในการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการติดเชื้อในมนุษย์ หรือหลักฐานทางระบาดวิทยาที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงดังกล่าว
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขย้ำว่า ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังโรคระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง ทั้งการติดตามเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ผ่านกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่ายวิจัยจากมหาวิทยาลัย โดยทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากไวรัสก่อโรคใหม่
“แม้จะยังไม่มีการระบาดของ HKU5-CoV-2 แต่มาตรการป้องกันยังคงเหมือนกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 และ RSV โดยประชาชนควร หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด สวมหน้ากากเมื่อจำเป็น ล้างมือเป็นประจำ และกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับวัคซีนป้องกันโรค เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่และโควิด-19” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้หลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ กำลังดำเนินการวิจัยไวรัสในค้างคาว เพื่อศึกษาคุณสมบัติทางชีวภาพของเชื้อ และพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคในอนาคต โดยทั่วไปโอกาสที่ไวรัสจากค้างคาวจะแพร่สู่คนโดยตรงนั้นถือว่า ต่ำถึงปานกลาง เนื่องจากปริมาณเชื้อในค้างคาวมีน้อย และการติดต่อมักต้องผ่านสัตว์ตัวกลางก่อน
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเฝ้าติดตามสถานการณ์ไวรัสสายพันธุ์ใหม่อย่างใกล้ชิด และประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้จากช่องทางที่เชื่อถือได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการตื่นตระหนกจากข่าวลือหรือข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน