เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ หลังจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก Rung Jirapach โพสต์ภาพลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก นี่ตัวอะไร เผยภาพไข่ต้มที่แกะเปลือกออกมากลับเจอสิ่งแปลกปลอมอยู่ในไข่ขาว ลักษณะคล้ายเม็ดขนาดเล็กๆ สีน้ำตาลเป็นจำนวนมาก โดยทางผู้โพสต์ได้ระบุข้อความว่า "ต้มไข่ไก่ทานแต่แกะเปลือกออกมา มีแบบนี้อยู่ตรงไข่ขาว 1 จุดคืออะไรคะ ไม่กล้าทานต่อเลย" ซึ่งหลายคนเห็นแล้วต่างยอมรับว่า หากเจอแบบนี้คงไม่กล้ากินต่อแน่นอน พร้อมแนะกับนำให้ทิ้งไป
ล่าสุด "อ.เจษฎ์" เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาคลายความสงสัย ระบุว่า
จากรูปดังกล่าว ผมคิดว่าเป็น "calcium deposit" ครับ เป็นเม็ดก้อนแคลเซี่ยม ซึ่งมักจะเกิดจากแม่ไก่ มีธาตุแคลเซี่ยมสะสมในร่างกายมากเกินปรกติ แล้วทำให้ไปสะสมอยู่ในไข่ด้วย เป็นแบบเดียวกับที่หลายคนเคยเจอเป็นเม็ดเล็กๆ แบบเดียวกันนี้ แต่อยู่ที่ผิวนอกของเปลือกไข่ ซึ่งเมื่อเช็คในเน็ตก็พบว่าสามารถเจอก้อนแคลเซี่ยมนี้ ในเนื้อของไข่ไก่ ได้เช่นกันครับ ดังเช่นกรณีในรูปประกอบและคำอธิบายด้านล่างนี้
เคยมีการโพสต์รูปของเม็ดเล็กๆ คล้ายเม็ดกรวดทราย จำนวนมาก ที่พบในไข่ขาว (ดูรูปประกอบ) ลงในเว็บ Reddit พร้อมกับคำถามว่า มันคืออะไร? เป็นไข่จิ๋วๆ ที่บังเอิญถูกปล่อยออกจากรังไข่ มาเป็นจำนวนมาก แล้วบังเอิญมารวมอยู่ในไข่อีกใบหรือเปล่า? หรือว่าเป็นพวกปรสิตในไข่ไก่?
ความจริงแล้ว ไข่ที่เพิ่งออกจากรังไข่ของไก่นั้นจะเล็กมากจนตาเปล่ามองไม่เห็น (จึงไม่ใช่สมมติฐานนี้) และมันก็ไม่ใช่ปรสิตของไก่ด้วย แต่พวกเม็ดที่เห็นนั้น จริงๆ แล้ว คือ calcium deposit เป็นก้อนของแคลเซี่ยม ซึ่งเป็นองค์ประกอบเดียวกันกับที่กลายมาเป็นเปลือกไข่ calcium deposit นี้่บางครั้งก็ไม่ค่อยแข็ง ดูเป็นผงๆ และขัดออกได้ แต่บางครั้งก็พบที่แข็งเหมือนกับเปลือกไข่เลย และส่วนมากมักจะพบอยู่บนผิวของเปลือกไข่ แต่ก็มีพบอยู่ข้างในเนื้อไข่ อย่างภาพที่เห็น
calcium deposit จึงเหมือนกับเปลือกไข่ ที่เราอาจจะพยายามเคี้ยวกลืนเข้าได้โดยไม่เป็นอันตราย แต่แข็ง และไม่ได้น่ากินอะไร
มีหลายเหตุผลที่ทำให้ไข่เกิด calcium deposit ขึ้น ตัวอย่างเช่น แม่ไก่เกิดการตกไข่มากกว่าปรกติ (over-ovulation) ทำให้มีไข่สองฟองเกิดขึ้นพร้อมกัน แล้วแคลเซี่ยมจากฟองหนึ่งไปเกาะอยู่บนเปลือกไข่อีกฟองหนึ่ง ทำให้ไข่ใบแรกนั้นมีเปลือกบางหรือไม่มีเปลือกเลย ขณะที่ไข่ใบที่สองนี้ผิวเปลือกนอกที่หนาหยาบ และมีเม็ดเล็กๆ เกาะอยู่
หรือในกรณีที่แม่ไก่ขาดวิตามิน D3 ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซี่ยมได้ตามปรกติ เกิดภาวะขาดแคลเซี่ยมขึ้นในร่างกาย เกิดอาการป่วยหรือขาดสารอาหาร ทำให้วางไข่ที่เปลือกบางและดูเป็นตะปุ่มตะป่ำ นอกจากนี้ โรคบางโรค เช่น หลอดลมอักเสบ (bronchitis) และโรคกล่องเสียงอักเสบติดเชื้อ (laryngotracheitis) ก็ทำให้แม่ไก่วางไข่ที่มี calcium deposit เกิดขึ้นได้เช่นกัน
โดยเฉลี่ยแล้ว ไข่ไก่ประมาณ 2% จากทั้งหมด มักจะมีลักษณะที่ผิดปรกติไป บางฟองก็แทบจะสังเกตไม่เห็น ในขณะที่บางฟองก็อาจจะมีลักษณะแปลกประหลาดมาก แต่ส่วนมาก ยังสามารถนำมาบริโภคได้อย่างปลอดภัย เพียงแต่รูปร่างลักษณะไม่น่ารับประทาน
ลักษณะแปลกๆ อย่างอื่น ของไข่ ได้แก่
การมีไข่แดงหลายใบในไข่ฟองเดียว (double of multiple yolks) ซึ่งที่พบกันบ่อยคือ มีไข่แดงแฝด (2 ใบในฟองเดียว) แต่ก็เคยพบกันมากที่สุดถึง 9 ใบในฟองเดียว เกิดจากการที่มีไข่ตกออกมาจากรังไข่มากกว่า 1 ใบ แล้วถูกหุ้มไว้ด้วยกันในระหว่างที่แม่ไก่สร้างเปลือกไข่ขึ้นในท่อนำไข่
เปลือกไข่มีแถบสีขาว (white banded eggshell) เกิดจากการที่เปลือกไข่ ถูกหุ้มด้วยชั้นแคลเซี่ยมเพิ่มอีกชั้น ระหว่างที่อยู่ในท่อนำไข่ / ไข่มีรูปทรงประหลาด (misshapen or oddly-shaped eggs) เช่น ไข่ดูเป็นทรงกลม แทนที่จะทรงรี ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่แม่ไก่เกิดภาวะเครียด เป็นโรค หรืออยู่อย่างแออัดมากไป จะทำให้การพัฒนาเปลือกไข่ผิดปรกติตามไปด้วย
จุดเลือดในไข่ (blood spots in yolks) มีตั้งแต่เห็นเป็นจุดแดงเล็กๆ ไปจนถึงกองเลือดขนาดเท่าช้อนโต๊ะ เกิดขึ้นจากการที่เส้นเลือดในไข่แดงเกิดแตก และทำให้มีเลือดออกมาคั่งอยู่ในเปลือกไข่ มักเกิดจากการได้รับอาหารอย่างไม่สมดุลย์ หรือได้รับยา sulphaquinoxaline หรือขาดอาหาร มีความเครียด
ไข่ไม่มีไข่แดง (yolk-less egg) เป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับการที่พบไข่แดงหลายในในไข่ฟองเดียว แต่กรณีนี้จะไม่พบไข่แดงเลย มีแต่ไข่ขาวอยู่ข้างใน และเปลือกไข่ด้านนอกมักจะดูสีคล้ำกว่าปรกติ เกิดจากการที่แม่ไก่ถูกรบกวนในวงรอบของการสืบพันธุ์ รวมถึงมักพบในไก่สาว