ตกใจมาก หลังรู้ตัวเลข "คนไทย" ป่วยมะเร็งกี่คนต่อปี

04 กุมภาพันธ์ 2568
22

วันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ องค์การอนามัยโลกและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากลกำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันมะเร็งโลก เพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยของโรคมะเร็ง เปิดสถิติคนไทยป่วยมะเร็ง กี่คนต่อปี บอกเลยน่าตกใจมาก

สำนักงานประกันสังคมให้สิทธิผู้ประกันตนตรวจสุขภาพตามรายการสุขภาพพื้นฐานของ สปสช. และสนับสนุนการตรวจสุขภาพเพิ่มเติมของ สปส. "ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย" ซึ่งรวมถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ตรวจเต้านม และตรวจมะเร็งปากมดลูก 

ตกใจมาก หลังรู้ตัวเลข "คนไทย" ป่วยมะเร็งกี่คนต่อปี

เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน - Social Security Office ได้มีรายงาน ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันที่องค์การอนามัยโลกและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากลกำหนดให้เป็นวันมะเร็งโลก (World Cancer Day) เพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยของโรคมะเร็งอันเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรทั่วโลก ปีละ 8,200,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ มีคนอายุระหว่าง 30-69 ปี ถึง 4 ล้านคน ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

สะท้อนถึงแนวโน้มการเกิดโรคมากขึ้นในกลุ่มคนวัยทำงาน อันเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทยข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ พบว่าในแต่ละปี มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 140,789 คน และเสียชีวิตถึง 84,697 คน

นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคมะเร็งของประเทศไทยที่ปรากฏข้างต้น ที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยในทุกโรค ซึ่งครอบคลุมบริการป้องกัน การรักษา ทั้งการผ่าตัด เคมีบำบัด ฮอร์โมน รังสีรักษา ในโรคมะเร็งทุกชนิด โดยปีที่ผ่านมามีผู้ประกันตนเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งกว่า 80,000 ราย ที่กองทุนประกันสังคมรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลโดยไม่จำกัดวงเงินการรักษา ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สำนักงานประกันสังคม ได้จัดบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นกลไกสำคัญที่ส่งเสริมให้ผู้ประกันตนมาใช้สิทธิตรวจสุขภาพตามรายการสุขภาพพื้นฐานของ สปสช. และสนับสนุนการใช้สิทธิตรวจสุขภาพเพิ่มเติมของ สปส. “ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” มีบริการตรวจคัดครองเพื่อป้องกันความเสี่ยงในโรคมะเร็ง ได้แก่ รายการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ในผู้ที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป ตรวจเต้านมในผู้ที่มีอายุ 30 ปี ขึ้นไป การตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear) หรือวิธี VIA หรือ วิธี HPV DNA Test ในผู้ที่มีอายุ 30 ปี ขึ้นไป เพื่อค้นหาโรคและเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งของผู้ประกันตน เพื่อให้ผู้ประกันตนมีสุขภาพที่ดี พร้อมทั้งลดค่าใช้จ่ายที่อาจสูญเสียไปกับค่ารักษาพยาบาล ลดอัตราการลางาน ลดอัตราการเจ็บป่วยเรื้อรัง ที่อาจทำให้เกิดอันตราย หรือเสียชีวิตได้

ขณะเดียวกันกรณีการรักษาโรคมะเร็ง สำนักงานประกันสังคมให้การดูแลผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่องในสถานพยาบาลตามสิทธิและสถานพยาบาลระดับสูง และในปี 2568 สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินโครงการยกระดับการเข้าถึงการรักษามะเร็งแก่ผู้ประกันตน “SSO Cancer Care” เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วขึ้น จากสถานพยาบาลเฉพาะทางด้านมะเร็งที่มีศักยภาพทั้งด้านการตรวจ การให้เคมีบำบัด ฮอร์โมน หรือรังสีรักษา เป็นต้น เพื่อรองรับการดูแลผู้ประกันตนอย่างทั่วถึง

“มะเร็งเป็นโรคร้ายที่คุกคามสุขภาพประชากรทั่วโลกรวมถึงประชากรไทย วันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งตรงกับวันมะเร็งโลก สำนักงานประกันสังคม ขอรณรงค์ให้ผู้ประกันตนตระหนักถึงการดูแลสุขภาพตนเอง โดยเฉพาะการคัดกรองความเสี่ยงมะเร็ง ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนที่สามารถเข้ารับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และกรณีพบความผิดปกติก็สามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้ตามที่สำนักงานประกันสังคมมอบให้” เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมกล่าว