23 ม.ค.68 นี้ สมรสเท่าเทียม ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย สำหรับคู่รัก LGBTQIA+ทั่วประเทศ โดยในส่วนของ กรุงเทพมหานครพร้อมให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมครั้งประวัติศาสตร์และครั้งแรกในประเทศไทยที่มีผลทางกฎหมายอย่างแท้จริง ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567
ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่จะมีผลใช้บังคับในวันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2568
โดยสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร มีความพร้อมในทุกด้านในการให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมแก่ประชาชนในวันพรุ่งนี้ (23 ม.ค. 68) ตั้งแต่เวลา 08.00 - 16.00 น. ซึ่งหลายสำนักงานเขตได้จัดเตรียมของที่ระลึก เพื่อร่วมแสดงความยินดีและเฉลิมฉลองให้กับทุกความรักที่ได้รับความเท่าเทียมครั้งประวัติศาสตร์นี้ด้วย
นอกจากนั้น กรุงเทพมหานครยังได้ร่วมจัดงานและให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมที่สยามพารากอน เป็นกรณีพิเศษ โดยเปิดให้บริการเวลา 08.00 - 18.00 น. ซึ่งจะมีสำนักงานเขตปทุมวันเป็นหน่วยงานหลักและประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขตที่เกี่ยวข้อง 3 - 4 เขต มาร่วมให้บริการ มีการจัดเตรียมแบบฟอร์ม อุปกรณ์ และสัญญาณการสื่อสาร เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในส่วนของกิจกรรม “Marriage Equality - สมรสเท่าเทียม” ณ Paragon Hall ชั้น 5 สยามพารากอน เขตปทุมวัน จะจัดขึ้นในวันที่ 23 มกราคม 2568 ตั้งแต่เวลา 10.00 - 22.00 น.
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้พบกับ
- พิธีจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมครั้งแรก
- เสวนาเกี่ยวกับการสร้างครอบครัวหลากหลาย
- นิทรรศการเส้นทางสู่สมรสเท่าเทียม
- มินิคอนเสิร์ตจากศิลปินแนวหน้า
- งานเฉลิมฉลองบนพรมแดงสีรุ้ง Pride Carpet สัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจและการยอมรับ พร้อมแสดงออกถึงตัวตนผ่านการแต่งกายที่สะท้อนอิสรภาพทางความคิดและจิตวิญญาณแห่งความรัก
ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความพร้อมในการให้บริการจดทะเบียนสมรสตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่จะมีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 ม.ค. 68 ว่า
ขณะนี้กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีความพร้อมเต็มที่ในการให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ เพราะว่าโดยหลักการแล้วเป็นการจดทะเบียนสมรสเหมือนปกติทั่วไป เป็นหลักการเดียวกันที่ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน สิ่งที่สำคัญคือรายละเอียดของสิทธิต่าง ๆ ภายหลังจากการจดทะเบียนสมรสแล้ว เช่น หากเป็นข้าราชการภายหลังจดทะเบียนสมรสแล้วจะมีสิทธิการลา การเบิกค่ารักษาพยาบาล เป็นอย่างไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งต้องดูให้ละเอียด
ในส่วนของการให้บริการประชาชน กรุงเทพมหานครได้มีการอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมไปแล้ว เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องให้ความใส่ใจ รวมถึงเรื่องการใช้คำพูดต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนที่แตกต่างและมีความหลากหลาย ซึ่งคำพูดที่ใช้ในกลุ่มเพื่อนกับคำพูดที่ใช้ในการให้บริการย่อมแตกต่างกัน ได้มีการเน้นย้ำในเรื่องนี้เพราะมีความละเอียดอ่อน ต้องให้มีความเข้าใจกันในการให้บริการ
“การจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมในวันพรุ่งนี้ (23 ม.ค. 68) ถือเป็นก้าวสำคัญเพราะเป็นวันแรกที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ แต่หลังจากนี้ก็จะเหมือนการจดทะเบียนสมรสทั่วไป และทุกคนก็จะเหมือนกัน เท่าเทียมกัน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย
ด้านกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีความพร้อมสำหรับการ อำนวยความสะดวก ในการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียม พร้อมกันทั่วประเทศแล้วในวันพฤหัสบดีที่ 23 ม.ค.นี้ บนหลักการความเสมอภาคและเท่าเทียม ภายใต้แนวคิด “สมรสเท่าเทียม" ยินดีกับทุกความรัก 878 อำเภอ ทั่วไทย รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานตาม กฎหมายฉบับนี้ที่ประกาศใช้
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรมการปกครองในฐานะนายทะเบียนกลาง ได้เตรียมความพร้อมซักซ้อมการปฏิบัติกับสำนักทะเบียน และอำเภอ 878 แห่ง พร้อมทั้งสำนักงานเขตใน กทม.50 เขต รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลไทยในต่างประเทศ 94 แห่ง ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันพฤหัสบดีที่ 23 ม.ค.นี้