หนุ่มอายุ 36 ปวดท้องไม่หาย สุดท้ายเป็นมะเร็ง!
"หมอเจด" นายแพทย์ เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มีเคสมาเล่าให้ฟังอีก เคสนี้เป็นผู้ชายอายุ 36 ปี ทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศ ไลฟ์สไตล์ก็คือนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ไม่ค่อยออกกำลังกาย ส่วนเรื่องอาหารการกิน ก็กินฟาสต์ฟู้ดและอาหารแปรรูป เช่น ข้าวกล่อง อาหารทอด หรือของหวานจากร้านสะดวกซื้อ
เขามาปรึกษาด้วยอาการปวดท้องเรื้อรัง ตรงท้องน้อยด้านซ้าย มีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสียมา
3 เดือน น้ำหนักลดลงประมาณ 5 กิโลกรัมในช่วงเวลาไม่นาน แต่เขาก็ไม่ได้ตั้งใจลดนะ และรู้สึกเหนื่อยง่ายมากขึ้น
หลังจากพูดคุย เลยสงสัยว่าอาจเป็นปัญหาของเรื่องทางเดินอาหาร เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ เลยแนะนำให้ตรวจ FIT test (Fecal Immunochemical Test) เพื่อหาเลือดในอุจจาระ ซึ่งเป็นการตรวจที่ง่ายและเหมาะกับผู้ป่วยที่ยังอายุน้อย ไม่ต้องเจ็บตัว แล้วก็ทำได้เอง
ผลตรวจ FIT test ของเขาขึ้น 2 ขีด (positive) ซึ่งหมายถึงมีความเสี่ยงสูงที่จะมีลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนล่าง จากนั้นจึงส่งต่อให้ทำ ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) หลังส่องกล้องก็พบก้อนเนื้อตรงลำไส้ใหญ่ซ้าย และหลังจากส่งชิ้นเนื้อไปตรวจพบว่าเป็นมะเร็งจริงๆครับ
เขาก็รักษาโดยการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ส่วนที่มีมะเร็งออก และตรวจต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง ซึ่งโชคดีที่ยังไม่พบการกระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่น และอีกความโชคดีคือไม่ต้องใส่ถุงหน้าท้อง จากนั้นเขาได้รับคำแนะนำให้ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยต้องส่องกล้องลำไส้ซ้ำทุก 1-3 ปี รวมถึงตรวจเลือดหา CEA (Carcinoembryonic Antigen) เพื่อติดตามการกลับมาเกิดซ้ำของมะเร็ง
ผมจะพูดคำนี้เสมอนะว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถป้องกันได้หากเริ่มปรับพฤติกรรมและใส่ใจสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช
หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารทอด และอาหารที่มีไขมันสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
ไม่ละเลยอาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูกเรื้อรัง หรือมีเลือดปนในอุจจาระ อันนี้ต้องรีบตรวจหาความผิดปกตินะครับ เพราะยิ่งตรวจไว โอกาสรอดก็สูง ฝากทุกคนดูแลตัวเองด้วยนะครับ ใครมีคำถามคอมเมนต์ได้เลยนะครับ