สุสานหลวง 5,000 ปี นักโบราณคดีฮือฮาหลุมพระศพกษัตริย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์
นักโบราณคดีฮือฮา ค้นพบสุสานหลวง หลุมพระศพกษัตริย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เก่าแก่ 5,000 ปี ขุดเจอโบราณวัตถุมากกว่า 350 ชิ้น
สร้างความฮือฮาไม่น้อย เมื่อสำนักข่าวซินหัว รายงานว่า นักโบราณคดีในมณฑลเหอหนาน ทางตอนกลางของประเทศจีน ค้นพบหลุมศพโบราณที่มีความเก่าแก่ราว 5,000 ปี บริเวณแหล่งโบราณคดีหวังจวง ของเมืองหย่งเฉิง ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งสำคัญในท้องถิ่น โดยคาดว่าเป็นสุสานหลวงที่ฝังพระศพของกษัตริย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งขุดพบโบราณวัตถุมากกว่า 350 ชิ้น
ตามรายงานระบุว่า คณะผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันมรดกวัฒนธรรม และโบราณคดีมณฑลเหอหนาน มหาวิทยาลัยครูนครหลวงในปักกิ่ง และสถาบันอื่นๆ ร่วมขุดสำรวจที่แหล่งโบราณคดีหวังจวง มาตั้งแต่ปี 2566 กระทั่งล่าสุด มีรายงานว่า พบหลุมศพขนาดกว้าง 3.47 - 3.68 เมตร และยาว 4.52 - 4.8 เมตร ซึ่งฝังโลงศพอยู่ทั้งข้างในและข้างนอก พร้อมวัตถุพิธีศพมากมาย
ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผากว่า 100 ชิ้น เครื่องประดับหยกขนาดเล็กราว 200 ชิ้น เครื่องมือทำจากกระดูก และซากสัตว์ประเภทขากรรไกรล่างของหมู อันเป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวย
ด้าน จูกวงหัว รองศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฯ เปิดเผยว่า หลุมศพโบราณแห่งนี้มีสภาพเสียหายมาก โครงกระดูกเจ้าของหลุมศพภายในโลงไม้ส่วนใหญ่หายไป เหลือแค่กระดูกนิ้วเท้าไม่กี่ชิ้น ส่วนเครื่องประดับหยก รวมถึงใบมีดหินประกอบพิธีจำนวนมาก ก็พบว่าถูกทำให้แตกหักอย่างตั้งใจ แสดงถึงการจงใจทำลายหลุมศพหลังจากฝังเพียงไม่นาน ซึ่งในส่วนนี้ต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริง
นอกจากนี้ จูกวงหัว ยังได้กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้บ่งชี้ว่า แหล่งโบราณคดีหวังจวงไม่ใช่ที่ตั้งถิ่นฐานธรรมดา แต่เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งข้อมูลระบุว่า แหล่งโบราณคดีหวังจวง อยู่ในช่วงกลางและช่วงปลายในวัฒนธรรมต้าเหวินโข่ว (Dawenkou Culture) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของยุคหินใหม่ตอนปลาย (ราว 4,000 - 2,600 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ครอบคลุมพื้นที่รวมกว่า 17 ตารางเมตร และถือว่ามีขนาดใหญ่มากสำหรับยุคสมัยนั้น
ขณะที่ หลิวไห่วั่ง หัวหน้าทีมนักโบราณคดีร่วม เผยรายละเอียดเพิ่มเติมว่า การค้นพบครั้งนี้ พบหลุมศพใหม่จำนวน จำนวน 45 หลุม ซึ่งถูกขุดสำรวจแล้ว 27 หลุม โดยบางหลุมเป็นของกษัตริย์และชนชั้นสูงในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และโบราณวัตถุพิธีศพที่พบ สะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งชนชั้นแรงงานและระดับผลิตภาพในยุคสมัยนั้น อีกทั้งจำนวนวัตถุพิธีศพผูกโยงกับขนาดหลุมศพ ยังบ่งชี้การแบ่งชนชั้นทางสังคมที่ชัดเจน
อีกทั้ง จากธรรมเนียมประเพณีที่พบจากหลุมศพล่าสุด เช่น การฝังฟันของกวางน้ำและกระดูกท้ายทอยที่ผิดรูปของผู้เสียชีวิต ยังสอดคล้องกับการฝังศพของวัฒนธรรมต้าเหวินโข่วฝั่งตะวันออก
โดยสิ่งที่ทำให้คณะนักโบราณคดีตื่นเต้นยิ่งกว่าคือ โบราณวัตถุที่ขุดพบจากหลุมศพล่าสุด เนื่องจากแสดงให้เห็นว่า แหล่งโบราณคดีหวังจวงเป็นจุดหลอมรวมวัฒนธรรมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ อันเป็นสถานที่ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาซ้อนทับและแลกเปลี่ยนอิทธิพลกัน เชื่อว่าคนที่อาศัยอยู่ที่นั่นในยุคโบราณมีจิตวิญญาณของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่และความกล้าหาญทางศิลปะ พวกเขาประดิษฐ์เครื่องปั้นดินเผาอย่างมีทักษะและมีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว
หลี่ซินเหว่ย รองผู้อำนวยการสถาบันประวัติศาสตร์โบราณ สังกัดสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์แห่งชาติจีนระบุว่า "การค้นพบเหล่านี้พิสูจน์ถึงการแลกเปลี่ยนเบื้องต้นของอารยธรรมจีนยุคแรก ถือเป็นหลักฐานแสดงความหลากหลายโดยธรรมชาติของอารยธรรมจีน และแหล่งโบราณคดีหวังจวงเป็นตัวอย่างสำคัญในการศึกษาการผสมผสานทางวัฒนธรรมของภูมิภาคต่าง ๆ ในยุคก่อนประวัติศาสตร์"
ข้อมูลจาก สำนักข่าวซินหัว