ชิมแปนซี ย่องเดินหาแม่ลูกอ่อน ก่อนกระชากทารก สุดท้ายเห็นภาพคาดไม่ถึง
ชาวบ้านโกรธแค้น บุกเผา - ทำลายศูนย์วิจัยชิมแปนซี หลังลิงตัวหนึ่งโจมตีมนุษย์ กระชากทารกน้อยออกจากอ้อมอก สุดท้ายเห็นภาพไม่คาดฝัน
กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสนใจอยู่ตอนนี้ เมื่อมีรายงานว่า ชาวบ้านผู้อาศัยอยู่รอบๆ ศูนย์วิจัยชิมแปนซีในประเทศกินี พากันบุกเข้าไปทุบทำลายและเผาทรัพย์สินภายในศูนย์ฯ ดังกล่าว เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 กันยายน) เพื่อระบายความโกรธแค้นหลังเกิดเหตุชิมแปนซีทำร้ายทารกจนเสียชีวิต
โดยแม่ของทารกเคราะห์ร้ายเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า ตอนที่เธอกำลังทำงานอยู่ในไร่มันสำปะหลัง อยู่ๆ ก็มีชิมแปนซีตัวหนึ่งเข้ามาจากด้านหลัง มันกัดเธอก่อนจะดึงตัวลูกน้อยวัยทารกของเธอเข้าไปในป่า
ขณะที่ผู้เห็นเหตุการณ์รายหนึ่ง เผยว่า ท่าทีโกรธแค้นของฝูนชนคือการแสดงออกหลังพวกเขาทราบข่าวการพบศพเด็กทารกที่ถูกขย้ำ ในระยะห่างประมาณ 3 กิโลเมตรจากเขตอนุรักษ์ธรรมชาติภูเขานิมบา ซึ่งเป็นหนึ่งในมรดกโลกของยูเนสโก (UNESCO)
ด้านผู้จัดการศูนย์ฯ ระบุว่า คนที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ ศูนย์ฯ พากันบุกเข้ามาโจมตีหลังหญิงรายหนึ่งอ้างว่าลูกของเธอถูกชิมแปนซีทำร้ายจนเสียชีวิต โดยฝูงชนที่โกรธแค้นได้รื้อค้นอาคาร ทำลายและจุดไฟเผาอุปกรณ์ของใช้ต่างๆ รวมถึง โดรน คอมพิวเตอร์ และเอกสารกว่า 200 ชุด
ทั้งนี้ นักนิเวศวิทยาในท้องถิ่นรายหนึ่ง ชี้ว่า ปัญหาเรื่องปริมาณอาหารที่ลดลงในเขตอนุรักษ์ กลายเป็นตัวผลักดันให้สัตว์เหล่านี้ออกจากพื้นที่คุ้มครองบ่อยขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีเหตุโจมตีมากขึ้นด้วย โดยในปีนี้ทางศูนย์ฯ พบว่ามีเหตุชิมแปนซีในพื้นที่โจมตีมนุษย์ถึง 6 ครั้งแล้ว
สำหรับผืนป่าในประเทศกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน ตั้งอยู่ในแอฟริกาตะวันออก ป่าเหล่านี้นับเป็นแหล่งที่อยู่ของชิมแปนซีตะวันตกที่ใกล้สูญพันธุ์ จำนวนมากที่สุดในโลก โดยข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) คาดว่าจำนวนประชากรชิมแปนซีเหล่านี้ลดลงถึง 80% ในช่วงปี 2533 - 2557 และขณะนี้เหลือชิมแปนซีเพียง 7 ตัวในป่าบอสโซล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตอนุรักษ์ธรรมชาตินิมบา ทั้งยังอยู่ใกล้พื้นที่เกษตรของชาวบ้าน
อย่างไรก็ตาม เดิมในประเทศกินี ชิมแปนซีถือเป็นสัตว์ที่ได้รับความเคารพจากชาวบ้านและผู้คนก็มักให้อาหารเป็นของขวัญแก่พวกมัน แต่นั่นกลับทำให้ชิมแปนซีบางตัวออกมาจากพื้นที่คุ้มครอง เข้าสู่ชุมชนมนุษย์ นำมาสู่เหตุโจมตีมนุษย์ในบางครั้ง ขณะเดียวกันนักอนุรักษ์ธรรมชาติยังเป็นกังวลเกี่ยวกับเรื่องการทำเหมืองเหล็กบนภูเขานิมบา ว่าจะส่งผลกระทบต่อชิมแปนซีไปด้วย