"หมอหมู" เตือนคนชอบ "กินยาพาราต่อเนื่อง" เพิ่มความเสี่ยงโรคอันตราย

21 กันยายน 2567

"หมอหมู" รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี เตือนคนชอบกินยาพาราต่อเนื่อง เพิ่มความเสี่ยงโรคอันตรายได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

วันที่ 21 ก.ย. 67 "หมอหมู วีระศักดิ์" หมอนิติเวชชื่อดัง เคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊กของตัวเอง เตือนคนชอบกินยาพาราต่อเนื่อง เพิ่มความเสี่ยงโรคอันตราย โดยระบุว่า "เตือน! ทานพาราเซต ต่อเนื่อง เสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง"

หมอหมู เตือนคนชอบกินยาพาราต่อเนื่อง เพิ่มความเสี่ยงโรคอันตราย

การรับประทานยาพาราเซตามอลเป็นประจำอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

ก่อนหน้านี้มีการสันนิษฐานว่าพาราเซตามอลเป็นยาที่ปลอดภัยอย่างสมบูรณ์สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิต สูง จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้

จากการศึกษาในปี 2022 พบว่าการใช้ยาพาราเซตามอลในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงได้

นักวิจัยกล่าวว่าผลกระทบต่อความดันโลหิตคล้ายคลึงกับยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน

ส่วนหนึ่งของการศึกษาที่ดำเนินการโดยทีมงานจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในผู้ป่วย 110 ราย ที่มีประวัติความดันโลหิตสูง โดยได้รับยาพาราเซตามอล 1 กรัม (500 มิลลิกรัม 2 เม็ด) 4 ครั้งต่อวัน (4 กรัมต่อวัน (500 มิลลิกรัม 8 เม็ดต่อวัน)) หรือ ให้ยาหลอกที่เข้าคู่กัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์

กลุ่มที่ได้รับยาพาราเซตามอลพบว่า มีความดันโลหิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก

การเพิ่มขึ้นนี้คล้ายคลึงกับที่พบในยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และอาจคาดว่าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองประมาณร้อยละ 20

สรุป การได้รับยาพาราเซตามอลเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จะเพิ่มความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และเมื่อหยุดรับประทานยา ความดันโลหิตก็จะกลับคืนสู่ระดับเดิม

ผู้ที่ใช้ยาพาราเซตามอลเป็นครั้งคราวไม่ต้องกังวลนะครับ การใช้ยาพาราเซตามอลในระยะสั้นเพื่อรักษาอาการปวดหัวหรือมีไข้ อันนี้ไม่มีผลกระทบครับ

หมอหมู เตือนคนชอบ กินยาพาราต่อเนื่อง เพิ่มความเสี่ยงโรคอันตราย