หญิงวัย 60 กินแตงโมที่แช่ในตู้เย็น จู่ๆ มีไข้สูง - อาการแย่จนหมดสติ หามส่ง ICU
หญิงวัย 60 กินแตงโมที่แช่ในตู้เย็น จู่ๆ มีไข้สูง - อาการแย่จนหมดสติ ต้องหามส่งโรงพยาบาลเข้า ICU หนักเกินคาดเดา
ของที่แช่ในตู้เย็นบางทีก็ต้องคำนวณว่ามันอยู่มานานกี่วันแล้ว และ เหมาะที่จะนำมารับประทานต่อหรือไม่ เพราะใช่ว่าสิ่งที่อยู่ในตู้เย็นนานๆ จะปลอดภัยเสมอไป เช่นเดียวกับเคสของ หญิงวัยประมาณ 60 ปี จากประเทศจีนรายนี้ ที่เกิดอาการโคม่า - หมดสติหลังจากที่กินของที่แช่ในตู้เย็น
ตามรายงานระบุว่า หญิงคนดังกล่าวกิน "แตงโมแช่เย็น" ที่เก็บไว้หลายวัน หลังจากนั้นเธอก็มีไข้สูงและอาการแย่ลงจนหมดสติ ครอบครัวต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลและเข้าห้อง ICU แพทย์ตรวจพบว่ามีเชื้อแบคทีเรียลิสเทอเรียได้เข้าสู่สมองของเธอ ทำให้เกิดฝีในสมอง เป็นที่เข้าใจว่าอาการรุนแรงของเธอ เกิดจากการกินแตงโมที่เก็บไว้หลายวันก่อนหน้านี้
โดย หญิงคนดังกล่าวมีโรคประจำตัวเช่น โรคเบาหวาน แม้ร่างกายโดยรวมจะปกติดี แต่เธอกลับมีไข้สูงโดยไม่ทราบสาเหตุ อุณหภูมิร่างกายสูงถึงกว่า 40 องศาเซลเซียส และมีอาการเวียนหัว เดินไม่มั่นคง ตอนแรกเธอคิดว่าเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา แต่เมื่ออาการแย่ลง ครอบครัวจึงนำตัวเธอส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน แต่ด้วยอาการที่รุนแรง จึงต้องย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลประชาชนมณฑลเจ้อเจียงต่อไป
เมื่อครอบครัวพาตัวเธอส่งโรงพยาบาล เธอกำลังมีไข้สูง มีอาการเคลื่อนไหวของลูกตาผิดปกติ ใบหน้าอัมพาต และอยู่ในสภาวะหมดสติ
ด้าน ดร.ไช่ เสี่ยวเฟิง แพทย์ของโรงพยาบาลได้วิเคราะห์ว่า หลังจากที่แตงโมเข้าสู่กระเพาะ เชื้อลิสเทอเรียจะผ่านเยื่อเมือกในระบบทางเดินอาหารของผู้ป่วยเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง แล้วกระจายเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางทางกระแสเลือด ซึ่งปกติแล้วการติดเชื้อลิสเทอเรียในระบบประสาทส่วนกลางจะแสดงอาการเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่กรณีที่มีฝีในสมองนั้นพบได้ไม่บ่อยนัก
โดยทั่วไปแล้ว สภาพแวดล้อมที่แช่เย็นหรือแช่แข็งจะไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย แต่แบคทีเรียที่ชอบความเย็นอย่างเชื้อลิสเทอเรีย ซึ่งถูกขนานนามว่า "นักฆ่าในตู้เย็น" สามารถอยู่รอดได้ทั้งในสภาวะที่มีออกซิเจนและไม่มีออกซิเจน และต้องใช้เวลาถึง 5 นาทีในการฆ่าเชื้อนี้ที่อุณหภูมิสูง 70 องศาเซลเซียส และยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ในอุณหภูมิต่ำถึง -20 องศาเซลเซียส ได้นานถึง 1 ปี
สำหรับอุณหภูมิการแช่เย็นของตู้เย็นในครัวเรือนมักอยู่ระหว่าง 3 ถึง 10 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิการแช่แข็งจะอยู่ระหว่าง -4 ถึง -24 องศาเซลเซียส ดังนั้น เชื้อลิสเทอเรียมักจะซ่อนตัวอยู่ในอาหารในตู้เย็นและมักจะตรวจจับได้ยาก
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่า เชื้อลิสเทอเรียมักแพร่เชื้อผ่านทางอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ สัตว์ปีก อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์นม และผักต่างๆ ล้วนเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้ อาการจะปรากฏภายใน 3 ถึง 7 วันหลังจากติดเชื้อ ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดเล็กน้อย แต่ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง อาจมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือฝีในสมองได้
ข้อมูลจาก ETtoday