หนุ่มใหญ่ ปวดไหล่มาครึ่งปี จู่ๆ ไข้สูง-ลดฮวบข้ามคืน หมอเกือบรักษาไม่ถูกจุด
หนุ่มใหญ่พนักงานออฟฟิศ ปวดไหล่มาครึ่งปี จู่ๆ ไข้ขึ้นสูง ก่อนลดฮวบข้ามคืน หมอตรวจยังวินิจฉัยผิด เกือบรักษาไม่ถูก
พนักงานออฟฟิศมักจะมีโรคนั่นโรคนี่มากวนหัวใจ โดยเฉพาะอาการปวดเมื่อยที่เกิดจากการนั่งทำงานนานๆ วิธีนี้แก้ได้ด้วยการเดิน ยิ่งเดินบ่อยก็จะยิ่งลดความเสี่ยงที่จะเป็นเรื้อรังได้ แต่ก็อย่าเดินบ่อยเกินไปจนงานไม่เสร็จนะ แต่กับอีกโรคที่พบได้บ่อยกับพนักงานออฟฟิศก็มีอยู่บ้าง แต่หลายคนอาจจะเข้าใจผิด เช่นเดียวกับหนุ่มใหญ่รายนี้
เรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นกับหนุ่มใหญ่พนักงานออฟฟิศวัย 50 ปี ที่มีอาการเจ็บไหล่มาครึ่งปี และอาการก็ยังไม่ดีขึ้นหลังจากฉีดยา รับยา และพักฟื้น กระทั่งคืนหนึ่งขณะที่เขากำลังนอนหลับ จู่ๆ ก็รู้สึกปวดไหล่จนทนไม่ไหวโดยไม่ทราบสาเหตุ แม้ว่าจะกินยาแก้ปวดและยาต้านการอักเสบแล้วก็ตาม สุดท้ายจึงต้องไปโรงพยาบาลเพื่อขอความช่วยเหลือ
หลังจากที่คุณหมอตรวจจึงพบว่า เขามีอาการปวดไหล่ขวามาก ยกมือไม่ได้ อ่อนแรงมาก อีกทั้งยังมีไข้สูง 39 องศา ในขณะที่การตรวจเลือดพบว่าเซลล์เม็ดเลือดขาวและดัชนีการอักเสบอยู่ในระดับสูง บ่งชี้ถึง "โรคข้ออักเสบติดเชื้อ" ทำให้เขาต้องแอดมิทที่โรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ แต่น่าประหลาดใจที่ไข้สูงเมื่อคืน มันดันลดลงในวันรุ่งขึ้น อีกทั้งไม่พบเชื้อแบคทีเรียใดๆ แต่อาการไม่สบายที่ไหล่ก็ยังคงไม่หาย
ต่อมา หนุ่มใหญ่คนดังกล่าวได้เปลี่ยนมารักษาที่คลินิกกระดูกและข้อ ก่อนจะพบว่าสิ่งที่ทรมานอยู่นั้นไม่ใช่โรคข้ออักเสบติดเชื้อ แต่เป็น "โรคผลึกแคลเซียมในเอ็นหมุนข้อไหล่" ในที่สุดเขาก็เข้ารับการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องข้อ (Arthroscopic Surgery) และกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
สำหรับ โรคผลึกแคลเซียมในเอ็นหมุนข้อไหล่ หรือภาวะแคลเซียมเกาะเส้นเอ็น เป็นภาวะที่พบบ่อยแต่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ซึ่งส่งผลต่อเส้นเอ็นของไหล่เป็นหลัก โดยเกิดจากการสะสมของผลึกแคลเซียมภายในเส้นเอ็น ทำให้เกิดการอักเสบและความเจ็บปวดในเส้นเอ็น อาการหลักคือปวดไหล่ จะรู้สึกชัดเจนมากขึ้นเมื่อยกแขนขึ้น หรือทำกิจกรรมบางอย่าง
ทั้งนี้ระดับของความเจ็บปวดมีตั้งแต่ความรู้สึกไม่สบายเล็กน้อย ไปจนถึงความเจ็บปวดอย่างรุนแรง บริเวณที่ได้รับผลกระทบอาจมีอาการบวมและกดเจ็บ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและการทำงาน ในกรณีที่รุนแรง อาการปวดอาจแย่ลงในเวลากลางคืน และส่งผลต่อการนอนหลับอย่างแน่นอน
ด้านดร.จาง ฟางหยวน แพทย์ประจำภาควิชากระดูกและข้อ วิทยาเขตหยางหมิง โรงพยาบาลเมืองไทเปยูไนเต็ด ชี้ให้เห็นว่าหากอาการปวดไหล่อาจคงอยู่เป็นเวลาหลายสัปดาห์ และเราควรไปตรวจที่คลินิกกระดูกและข้อเพื่อตรวจสอบภาวะแคลเซียมเกาะเส้นเอ็น ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไข้ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม อาการไข้นี้ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก ตามการวิจัยทางการแพทย์ พบเพียงประมาณ 5% ถึง 10% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคผลึกแคลเซียมในเอ็นหมุนข้อไหล่ หรือภาวะแคลเซียมเกาะเส้นเอ็น การรักษาเช่น การพักผ่อน การฟื้นฟูสมรรถภาพ การใช้ยาต้านการอักเสบและยาแก้ปวด สามารถบรรเทาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม เมื่อการรักษาโดยไม่ผ่าตัดล้มเหลว และอาการยังคงอยู่หรือแย่ลง ทำให้เกิดอาการอ่อนแรง และตึงบริเวณไหล่ อาจจำเป็นต้องผ่าตัด