เปิดภาพ "นกชนหิน" นกที่อยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
KEY
POINTS
นกเงือก เป็นสัตว์ป่าหายากชนิดหนึ่งในผืนป่าศรีพังงา และยังมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศป่า เนื่องจากนกเงือกกินผลไม้ได้มากกว่า 300 ชนิด โดยเฉพาะผลไม้ที่มีขนาดผลใหญ่กว่า 1.5 เซนติเมตร ที่นกขนาดเล็กไม่สามารถช่วยกระจายเมล็ดได้ แต่เมื่อนกเงือกกินเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ และบินไปช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์จะช่วยให้ต้นไม้เติบโตกลายเป็นป่าใหญ่
ประเทศไทยมีนกเงือกทั้งหมด 13 ชนิด หลายชนิดอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ และหากนกเงือกมีจำนวนลดลงหรือสูญพันธุ์ สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อาจสูญพันธุ์ตามไปด้วยเช่นกัน
หนึ่งในนกเงือกที่สำคัญของผืนป่าศรีพังงา ได้แก่ นกชนหิน (Hel meted hornbill ; ชื่อวิทยาศาสตร์: 𝘙𝘩𝘪𝘯𝘰𝘱𝘭𝘢𝘹 𝘷𝘪𝘨𝘪𝘭) เป็นนกขนาดใหญ่ ในวงศ์นกเงือกที่มีสายพันธุกรรมเก่าแก่ มีลักษณะเด่นตรงที่สันบนปากมีขนาดใหญ่และหนา เนื้อในสีขาวตันคล้ายงาช้าง ทั้งมีจะงอยปากยาว และมีขนหางพิเศษคู่หนึ่งซึ่งจะงอกยาวเลยขนหางเส้นอื่น ๆ ออกไปมากถึง 50 เซนติเมตรแลเห็นเด่นชัด
สำหรับที่มาของชื่อนกชนหินเกิดจากการต่อสู้เพื่อแย่งอาณาเขต โดยใช้ส่วนหัวที่หนาชนกัน จึงได้ชื่อว่า นกชนหิน บางครั้งอาจบินชนกันในอากาศ จากความโดดเด่นของนกชนหิน จึงทำให้ถูกล่าอย่างหนัก ด้วยความเชื่อในการนำสันบนจะงอยปากบนไปแกะสลักทำเป็นเครื่องราง ของประดับ คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าจึงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 เพื่อยกระดับความคุ้มครองนกชนหินและถิ่นอาศัยให้สอดคล้องกับมาตรการนานาชาติ
สถานภาพของนกชนหินในปัจจุบันจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 และอยู่ในบัญชีที่ 1 ของอนุสัญญาไซเตส (CITES) ขณะที่สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN จัดให้นกชนิดนี้อยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง
การค้นพบนกชนหินและนกเงือกชนิดอื่น ๆ ของอุทยานแห่งชาติศรีพังงา รวมถึงสัตว์ป่าหายากหลากหลายสายพันธุ์ ยังเป็นผลสำเร็จมาจากการนำระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PATROL) ที่นำมาใช้ในการปฏิบัติงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการช่วยป้องกันและปราบปรามการลักลอบล่าสัตว์ป่าและลดการบุกรุกทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าที่ได้ผลดี ส่งผลทำให้จำนวนของสัตว์ป่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
โดยเฉพาะฤดูกาลช่วงนี้เป็นฤดูจับคู่ของเหล่าบรรดานกเงือก ผลงานของการลาดตระเวนคุณภาพอย่างเข้มงวด ยังสามารถทำให้ผู้พิทักษ์ป่าแห่งผืนป่าศรีพังงา ถ่ายภาพเหล่านกเงือกนานาชนิดมาให้พวกเราได้ชื่นชมกัน
ที่มา : อุทยานแห่งชาติศรีพังงา-Si Phang Nga National Park ส่วนอุทยานแห่งชาติ สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช